ทำไม "ผู้สูงอายุ" เสี่ยงภาวะ "ขาดน้ำ" มากกว่าวัยอื่นๆ

ทำไม "ผู้สูงอายุ" เสี่ยงภาวะ "ขาดน้ำ" มากกว่าวัยอื่นๆ

ทำไม "ผู้สูงอายุ" เสี่ยงภาวะ "ขาดน้ำ" มากกว่าวัยอื่นๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่ว่า “ผู้สูงอายุ” เสี่ยงที่จะอยู่ใน “ภาวะขาดน้ำ” มากกว่าวัยอื่นๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จะมีสัญญาณอันตรายที่สามารถเตือนให้เราทราบได้ว่าผู้สูงอายุกำลังอยู่ในภาวะนี้บ้างหรือไม่ Sanook Health มีข้อมูลจากกรมอนามัยมาฝากกัน


ทำไม "ผู้สูงอายุ" เสี่ยงภาวะ "ขาดน้ำ" มากกว่าวัยอื่นๆ

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง ทำให้ดื่มน้ำน้อยลง ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม ทำให้ดื่มน้ำน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปาก ทำให้ไม่อยากกินอาหาร ปัญหาด้านสายตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้ จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง จึงอาจทำให้ดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน


สัญญาณอันตราย กำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ

ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาดน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน อาจส่งผลต่อสุขภาพ นำมาสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการที่แสดงออกถึงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุคือ 

  • ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที 
  • ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำให้วิงเวียนศีรษะ 
  • เป็นลมง่าย หมดสติ 
  • มีภาวะสับสน 
  • เยื่อบุปากแห้ง 
  • ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก 
  • แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย


วิธีลดความเสี่ยงภาวะขาดน้ำของผู้สูงอายุ

  1. ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรจัดหาน้ำให้ท่านดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง 
  2. เลือกเครื่องดื่มที่ผู้สูงอายุท่านนั้นชอบ แต่งดดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด 
  3. จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด
  4. ควรให้ดื่มน้ำช้าๆ เพื่อป้องกันการสำลัก
  5. การกินยาและอาหาร ให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว
  6. ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook