6 สัญญาณอันตราย คุณมี "พยาธิในช่องคลอด" หรือไม่?
พยาธิในช่องคลอด เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตกขาว ช่องคลอดมีกลิ่น รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากปล่อยเนิ่นนานไม่รีบรับการรักษาอย่างถูกต้องและถูกวิธี อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ บทความนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ สัญญาณเตือนพยาธิในช่องคลอด ที่คุณควรรู้ ให้มากขึ้นกันค่ะ
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตกขาวเยอะกว่าผิดปกติ ช่องคลอดมีกลิ่น รู้สึกคันที่อวัยวะเพศ และรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามพยาธิในช่องคลอดมักพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดลูกก่อนกำหนด
6 สัญญาณเตือนพยาธิในช่องคลอดที่คุณควรรู้
ประมาณ 70% ของคนที่เป็นพยาธิในช่องคลอด จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ในตอนแรก ให้คุณสังเกตตนเอง หากมีอาการดังต่อไปนี้ แสดงว่าเข้าข่ายต่อการเป็นพยาธิในช่องคลอด
- ตกขาวเยอะผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
- ตกขาวมีสีเทาเหลือง หรือเขียว
- รู้สึกคันที่อวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นพยาธิในช่องคลอดได้
สาเหตุของพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวซึ่งเป็นปรสิตชนิดเล็ก ๆ แพร่เชื้อติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (ไม่ทราบระยะฟักตัวระหว่างการติดเชื้อ แต่คาดว่าเชื้อจะฟักตัวตั้งแต่ 4 ถึง 28 วัน) โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 14-49 ปี ติดเชื้อในช่องคลอด ปากมดลูกหรือท่อปัสสาวะ รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- มีคู่นอนหลายคน
- มีประวัติติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
วิธีการรักษาพยาธิในช่องคลอด
พยาธิในช่องคลอดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจแนะนำ ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือยาทินิดาโซล (Tinidazole)
หมายเหตุ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังจากรับประทานยาเมโทรนิดาโซลในช่วง 24 ชั่วโมงแรก หรือหลังจากรับประทานยาทินิดาโซลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก
ลดความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิในช่องคลอด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการพยาธิในช่องคลอด โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- สอบถามประวัติความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่เรามีเพศสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้