ผลศึกษาชี้ "โรคหวัด" อาจทำให้บางคนมีภูมิต้านทาน "โควิด-19" ฝังอยู่ในตัว

ผลศึกษาชี้ "โรคหวัด" อาจทำให้บางคนมีภูมิต้านทาน "โควิด-19" ฝังอยู่ในตัว

ผลศึกษาชี้ "โรคหวัด" อาจทำให้บางคนมีภูมิต้านทาน "โควิด-19" ฝังอยู่ในตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดชี้ว่า โรคหวัด อาจทำให้คนบางคนมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสแต่ละคนจึงมีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสนี้แตกต่างกันไป

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันอังคาร นักวิทยาศาสตร์จาก La Jolla Institute for Immunology ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากการค้นพบเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งชี้ว่า ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งอาจมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แบบฝังอยู่ในตัวอยู่แล้วแม้ไม่เคยติดเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยพบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันพิเศษดังกล่าวในหลายประเทศ รวมทั้งในอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่จดจำมานี้อาจเชื่อมโยงกับการป่วยเป็นโรคหวัดในอดีต โดยทีมงานได้ตรวจสอบเซลล์เม็ดเลือดขาวของกลุ่มตัวอย่างที่เรียกว่า ที-เซลล์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่ปล่อยสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี ออกมาทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

นักวิจัยกล่าวว่า ที-เซลล์สามารถจดจำเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายได้นานหลายสิบปีหลังจากที่หายป่วยจากโรคนั้นแล้ว ซึ่งในการทดลองครั้งล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่า ที-เซลล์สามารถถูกฝึกให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดได้ และยิ่งแปลกใจเมื่อพบว่า ที-เซลล์เหล่านั้นยังสามารถจดจำเชื้อโคโรนาไวรัสสาเหตุของโควิด-19 ได้เช่นกัน แม้จะไม่เคยเปิดรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มาก่อน

โดยทีมงานเชื่อว่า สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความคล้ายกันของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่กับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดนั่นเอง

นักวิจัยระบุว่า การค้นพบครั้งนี้อาจทำให้แพทย์สามารถช่วยผู้ป่วยโควิด-19 บางรายในการสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างรวดเร็ว และอาจอธิบายได้ว่าทำไมผู้ติดเชื้อแต่ละคนแสดงอาการไม่เท่ากัน และทำไมคนบางคนจึงไม่ติดเชื้อแม้จะใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสก็ตาม

ถึงกระนั้น นักวิจัยยืนยันว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook