ใช้ “หูฟัง” แบบผิดๆ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
หากเปิดกระเป๋าของวัยรุ่นหรือคนวัยทำงานหลายๆ คน สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่ต้องพกพอๆ กับโทรศัพท์และกระเป๋าสตางค์ก็คือ “หูฟัง” จึงทำให้ “การใส่หูฟัง” เป็นเรื่องปกติของคนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อย ในคนที่กำลังเดินทาง หรือขณะกำลังทำกิจกรรมอื่นๆ แทบทุกกิจกรรม
เหตุผลที่พวกเขาใส่หูฟังก็มีหลากหลาย ทั้งแก้เหงา ฟังเพลงที่ชอบ ดูหนัง ดูซีรีส์ ฟังข่าว หรือแม้แต่การป้องกันคนเข้ามารบกวน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของมารยาททางสังคม เพราะการเปิดเพลงหรือดูหนังโดยไม่ใส่หูฟังมันไปรบกวนผู้อื่น แต่ไลฟ์สไตล์การใช้หูฟังแบบผิดๆ นั้นทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ มีพฤติกรรมใดบ้างนั้น ไปดูกันเลย
ใส่หูฟังตอนนอน
หลายคนติดนิสัยต้องฟังเพลงตอนนอน ถ้าไม่ฟังแล้วจะนอนไม่หลับ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันอันตรายกว่าที่คิด เนื่องจากในขณะที่เรานอนหลับ เราจะเปลี่ยนท่าการนอนโดยไม่รู้ตัว แล้วการนอนตะแคงขณะใส่หูฟัง หูจะกดทับกับปลั๊กหูฟังที่มีลักษณะแข็ง โดยเฉพาะหูฟังแบบ in-ear ที่ถ้านอนตะแคง ซิลิโคนจะอัดเข้าไปด้านในหูแน่นกว่าเดิม
หลายคนได้บทเรียนจากการใส่หูฟังตอนนอน ทำให้มีอาการปวดหู หูชั้นนอกอักเสบ ลามมาถึงบริเวณขากรรไกร ทำให้อ้าปากลำบาก เคี้ยวข้าวยาก อาจกลายเป็นหูน้ำหนวก หรือมีหนองในหู สูญเสียการได้ยินชั่วคราว หรือหูหนวกไปเลยก็ได้ หากจำเป็นต้องฟังเพลงก่อนนอนจริงๆ ให้ใช้วิธีเปิดจากลำโพงเบา ๆ แล้ววางไว้ใกล้ตัว หรือเสียบหูฟังไว้ที่โทรศัพท์แล้วเปิดเสียงดังๆ ให้เสียงเล็ดลอดออกมาผ่านหูฟังแทนจะดีต่อสุขภาพหูได้มาก
ฟังเพลงเสียงดัง
บางคนก็ติดนิสัยเปิดเพลงฟังดังๆ เพราะอยากจะอยู่ในโลกส่วนตัว ตัดเสียงที่ไม่พึงปรารถนารอบข้าง ชื่นชอบการฟังเพลงมาก หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ รวมถึงติดการใช้หูฟังที่เสียงเบสหนักๆ ด้วย (รู้สึกว่าเพลงเพราะกว่าเดิม) ซึ่งการเปิดเพลงดังๆ มีผลเสียต่อหูแน่นอน หูตึงก่อนวัยอันควร ประสาทหูเสื่อม เสี่ยงทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร ปกติแล้วระดับเสียงที่เหมาะสมกับการได้ยินของคนจะอยู่ที่
- ผู้ใหญ่ สามารถฟังระดับเสียงไม่เกิน 80 เดซิเบล ได้ประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- เด็ก สามารถฟังระดับเสียงไม่เกิน 75 เดซิเบล ได้ประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- หากใช้เสียงดังกว่านั้น ไม่ควรเกิน 100 เดซิเบล และไม่ใส่ต่อเนื่องกันนานกว่า 15 นาที
มีคนกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน อาการแรกเริ่มอาจรู้สึกว่าความสามารถทางการได้ยินลดลง และอาจพบร่วมกับมีเสียงวี้ดในหู โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้หูได้รับอันตรายก็คือ ความดังของเสียง ระยะเวลาในการใช้หูฟัง และความถี่ในการฟัง
ใส่หูฟังขณะชาร์จแบตโทรศัพท์
อาจตายโดยไม่รู้ตัว หากเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร ไฟช็อต ไฟรั่วขึ้นมา ปกติแล้วไฟบ้านจะมีความดันไฟฟ้าอยู่ที่ 220 โวลต์ แต่เมื่อเสียบชาร์จจะผ่านตัวแปลงไฟฟ้าให้ได้ไฟอยู่ที่ประมาณ 5 โวลต์ ซึ่งแรงดันนั้นไม่แรงพอที่จะดูดคนจนเสียชีวิต แต่การใส่หูฟังขณะชาร์จแบตก็ไม่ควรทำ เพราะหากมีอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งชำรุด ไม่ได้มาตรฐาน หรือทำงานขัดข้อง ปล่อยความดันไฟฟ้าออกมาเต็มพิกัด 220 โวลต์ ก็มีความเป็นได้สูงที่สายหูฟังจะเป็นตัวนำส่งสัญญาณไฟฟ้ารั่วเข้าสู่ตัว อันนี้แหละตายแน่นอน
แม้ว่าความดันไฟอาจไม่มาก แต่ก็สามารถทำลายระบบประสาทได้ เพราะหูของคนเราเชื่อมต่อกับสมองโดยตรง อาการเล็กน้อยคือมึนงง หลงลืม สับสนชั่วคราว แต่ถ้าความรุนแรงมากก็จะทำให้ชัก หมดสติ สมองเสียหายได้เหมือนกัน นอกจากนี้การชาร์จแบตโทรศัพท์ควรใช้อุปกรณ์แท้ที่มากับโทรศัพท์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ต้องมีมาตรฐาน ทั้งตัวอุปกรณ์ชาร์จ สายไฟ ปลั๊กพ่วง หรือเต้าเสียบ เป็นต้น
ไม่เคยทำความสะอาดหูฟังเลย
หูฟังกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของใครหลายๆ คนไปแล้ว จะออกจากบ้านที จะลืมอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมหูฟัง ทำให้หูฟังเป็นสิ่งที่อยู่ติดกับหูตลอดเวลา หากไม่ทำความสะอาดก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ควรทำความสะอาดหูฟังบ้าง เพื่อสุขอนามัยของตัวเอง และถนอมอายุการใช้งานของหูฟังด้วย แล้วจะรู้ว่าหูฟังที่คุณใช้ทุกวันสกปรกขนาดไหน
อุปกรณ์ทำความสะอาดก็หาไม่ยาก หากมีทุนสูง อาจเลือกซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดเฉพาะ (คนที่มีหูฟังราคาแพงมักเลือกใช้) ถ้าทุนต่ำก็เลือกเป็นอุปกรณ์ในบ้าน เช่น สำลีก้านปลายแหลมชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดทำความสะอาดส่วนปลั๊กที่ใช้อุดหู แล้วใช้กระดาษชำระแบบเปียกหรือสำลีแผ่นชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่เช็ดสาย ส่วนวิธีทำก็ดูได้ตามคลิปเคล็ดลับต่างๆ
ใส่หูฟังโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง (เลย)
“อยู่คนเดียวได้สบายมาก แค่มีโทรศัพท์กับหูฟัง” นี่คือความคิดของคนที่ใส่หูฟังโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งอาจอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะบางคนตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงเมื่อใส่หูฟัง ไม่ได้ยินเสียงแตรรถที่บีบขอทาง เสียงหมาวิ่งไล่ หมาเห่าก็ไม่ได้ยิน ไม่สังเกตสิ่งรอบข้าง นั่งรถเมล์เลยป้าย เดินตกท่อ เดินชนคนอื่น คนแปลกหน้าเดินตามก็ไม่รู้เรื่อง และอีกสารพัด ดังนั้น หากอยู่ในที่สาธารณะ ควรโฟกัสกับสิ่งรอบตัวมากกว่า เมื่อไปอยู่ในที่ส่วนตัวแล้ว จะฟังอะไรดูอะไรก็ตามสบายเลย