"ยาเสียสาว" มีจริงหรือ ป้องกันอันตรายได้อย่างไร

"ยาเสียสาว" มีจริงหรือ ป้องกันอันตรายได้อย่างไร

"ยาเสียสาว" มีจริงหรือ ป้องกันอันตรายได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาจจะเคยได้ยินคำว่า “ยาเสียสาว” ในอินเตอร์เน็ต หรือในข่าวรายวันกันมาบ้าง จริงๆ แล้วยาเสียสาวมีอยู่จริงหรือไม่ ส่งผลอันตรายต่อร่างกายของเราอย่างไร และมีวิธีป้องกันการบริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัวได้บ้างหรือไม่ Sanook Health ขอนำข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาฝากกัน

ยาเสียสาว คืออะไร มีจริงหรือ

ยาเสียสาว คือ ยาหรือสารเคมีที่ผู้ไม่หวังดีนำมาใช้กับเหยื่อในทางผิดๆ เพื่อก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น รูดทรัพย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

ตัวอย่างสารเคมีที่อาจพบได้ในยาเสียสาว

  • ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum)
  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol)
  • สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
  • ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)

อาการที่เกิดขึ้น หลังบริโภคยาเสียสาว

  • มึนงง
  • ง่วงซึม
  • ไม่มีสติ
  • อาจถึงขั้นสลบได้

ยาเสียสาว ออกฤทธิ์อย่างไร?

ส่วนใหญ่สารเคมีในยาเสียสาวจะเริ่มทำให้ร่างกายเกิดอาการต่างๆ ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยเหยื่ออาจเผลอบริโภคยาเสียสาวเข้าไปในร่างกายในรูปแบบของการถูกผสมลงไปในเครื่องดื่ม เพราะส่วนใหญ่สารเคมีในยาเสียสาวจะละลายน้ำได้ดี โดยเฉพาะหากมีการผสมลงไปในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์มากขึ้น

เครื่องดื่มที่ถูกผสมยาเสียสาว จะสามารถสังเกตได้หรือไม่?

สารเคมีในยาเสียสาวส่วนใหญ่อาจมาในรูปแบบของยาที่ไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รส ดังนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตได้ว่าเครื่องดื่มเหล่านั้นถูกผสมยาเสียสาวหรือไม่ แต่ในบางประเภทอาจจะพอสังเกตได้จากรสหรือกลิ่นที่แปลกไปจากเดิมได้เช่นกัน แต่หากเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งสังเกตได้ยาก เพราะมีรสชาติขมๆ ค่อนข้างชัดเจน จึงอาจกลบรสของยาไปได้มาก จึงยากต่อการสังเกต

วิธีป้องกันการบริโภคยาเสียสาวโดยไม่ตั้งใจ

  1. อย่ารับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า และคนที่ไม่น่าไว้ใจ
  2. อย่าดื่มเร็วเกินไป เพราะหากถูกวางยา จะได้มีเวลาระวังตัวได้ทัน
  3. ดื่มเครื่องดื่มแต่พอประมาณ เพื่อให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
  4. ระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ก็ตาม เมื่อต้องดื่มกับคนอื่นๆ
  5. อย่าทิ้งเครื่องดื่มของตัวเองเอาไว้ที่โต๊ะ หากจำเป็นต้องลุกออกจากโต๊ะไปเข้าห้องน้ำ คุยโทรศัพท์ ออกไปรับเพื่อน หรือทำธุระอื่นๆ เมื่อกลับมาที่โต๊ะไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแก้วเดิม ควรเปลี่ยนแก้วใหม่ไปเลย
  6. ไม่ควรไปร่วมงานคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย
  7. หากรู้สึกผิดปกติหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่ต้องสงสัย เช่น เริ่มรู้สึกมึนงง ง่วงซึม ควรรีบมองหาเพื่อนที่มาด้วยกันให้ช่วยพากลับบ้าน หรือหากไปคนเดียวควรหยุดดื่ม และดื่มน้ำเปล่าตามลงไปแทน เพื่อให้ตัวยาเจือจางให้ได้มากที่สุด และรีบขอตัวกลับบ้าน โดยให้เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจได้พาไปส่งที่บ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook