“ความมีน้ำใจ” เคล็ด(ไม่)ลับ ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้
ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถในประเทศไทย อาจมีโอกาสได้เห็นสติกเกอร์คำขวัญท้ายรถสนุกสนานเฮฮาหรือจะเป็นคำคมสู้ชีวิตให้ได้อ่านกัน ส่วนในอเมริกานั้นสติกเกอร์เหล่านี้มักจะที่มีประโยคที่ว่า “จงทำดีแบบไม่มีเงื่อนไข” (Perform random acts of kindness) เพื่อให้คนเราหันมาทำสิ่งที่ดีๆ โดยไม่ต้องคิดวางแผนอะไรล่วงหน้า และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น ออกมาสนับสนุนแนวคิดความมีน้ำใจ ที่ส่งผลดีกับสุขภาพของผู้ให้ด้วย
ไมเคิล แมคคัลโล นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of California San Diego บอกว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นคนมีน้ำใจ เช่นเดียวกับลักษณะทางอารมณ์อื่นๆ อย่างเช่น ความโกรธ ความลุ่มหลง ความเศร้าโศก หรือความต้องการอยากแก้แค้น
อาจารย์ไมเคิล แมคคัลโล เสริมด้วยว่า สัตว์ส่วนใหญ่จะช่วยเหลือเฉพาะสมาชิกในกลุ่มใกล้ชิดเท่านั้นแต่ไม่สนใจสัตว์แปลกหน้า ซึ่งตรงข้ามกับมนุษย์ เพราะเรามีเหตุผลคิดได้และรู้ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างคนรู้จักกับคนแปลกหน้า รวมทั้งตระหนักว่าคนแปลกหน้าก็สามารถช่วยเหลือเรากลับได้เช่นกันถ้าเราปฏิบัติดีต่อพวกเขา
ไบรอัน แฮร์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Duke University ผู้เขียนหนังสือ “Survival of the Friendliest” บอกว่า ความมีน้ำใจและความเป็นมิตรเป็นผลดีต่อความอยู่รอดของสายพันธุ์ อย่างกรณีของแบคทีเรีย ดอกไม้ หรือแม้แต่ลิงโบโนโบ (bonobos) ที่พบว่า ยิ่งพวกมันมีเพื่อนมากและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนฝูงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
ด้านโอลิเวอร์ เคอร์รี นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Kindlab ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเรื่องความเมตตาปรานีของมนุษย์บอกว่า ความเมตตานี้เกิดขึ้นก่อนการกำเนิดของศาสนาบนโลกเสียอีก และว่าความมีน้ำใจคือสิ่งที่เป็นสากล ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์ถึงมีน้ำใจ นั่นเป็นเพราะว่าเราคือสัตว์สังคม และเราได้ประโยชน์จากความเมตตาของเราเองภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม
ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ยังพบว่า ผู้คนให้คุณค่าของความเมตตาปรานีอยู่เหนือคุณค่าใดๆ ซึ่งอานัต บาร์ดิ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of London ได้ศึกษาค่านิยมของมนุษย์ โดยให้รายการคุณค่าต่างๆ ทั้ง ความเมตตา ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ความยึดถือขนบธรรมเนียม ความมั่นคงปลอดภัย การเรียกร้องความยุติธรรม และการแสวงหาอำนาจ ปรากฏว่า ผู้คนเลือก “ความเมตตาปรานี” เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
แต่ในแง่ผลดีต่อสุขภาพมนุษย์ ซอนยา ลิวโบมีร์สกี (Sonja Lyubomirsky) อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of California Riverside ทำการศึกษาในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และพบว่า ผู้คนจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้แสดงความเมตตาและมีน้ำใจแก่ผู้อื่น มากกว่าแสดงความเมตตาต่อตนเอง และว่าความเมตตาปรานีเป็นสิ่งที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
ในการทดสอบหนึ่ง ลิวโบมีร์สกี แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ออกไปทำสิ่งดีๆ 3 สิ่งให้กับคนอื่นๆ 3 คนต่อสัปดาห์ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อย เช่นการเปิดประตูให้คนอื่น ส่วนอีกกลุ่มให้เลือกทำดีกับตนเอง 3 สิ่งต่อสัปดาห์ ปรากฏว่ากลุ่มที่ทำดีมีน้ำใจให้คนอื่นมีความสุขมากกว่าและรู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่นๆบนโลกมากกว่า
ซึ่งเคอร์รี นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยมีผลการศึกษาที่สอดคล้องกับการวิจัยนี้อย่างน้อย 27 ชิ้น ที่ระบุตรงกันว่า ความมีน้ำใจช่วยให้คนรู้สึกดีขึ้นได้จริง
แต่อาจารย์ด้านจิตวิทยาผู้นี้ลงลึกไปกว่านั้นด้วยการศึกษาความมีน้ำใจในกลุ่มคนที่มีโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และพบว่า พวกเขามีสุขภาพกายที่ดีขึ้นตามไปด้วยเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น การวิจัยของลิวโบมีร์สกียังพบด้วยว่า ถ้าเรามีจิตใจที่งดงามและช่วยเหลือคนอื่น ภาวะการอักเสบในร่างกาย หรือ Inflammation จะลดลง
นอกจากนี้การศึกษาอื่นๆ ของเธอยังพบยีนต้านไวรัสที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกายของคนที่แสดงความมีน้ำใจกับผู้อื่นมากขึ้นด้วย และนั่นอาจเป็นเครื่องสะท้อนว่า ความเมตตาปรานีมีน้ำใจเพียงน้อยนิด อาจสร้างคุณประโยชน์ต่อชีวิตได้อย่างมหาศาล