จริงหรือไม่? กิน “ผงชูรส” มากๆ ทำให้ “ผมร่วง” พร้อมวิธีกินอย่างไรให้ปลอดภัย

จริงหรือไม่? กิน “ผงชูรส” มากๆ ทำให้ “ผมร่วง” พร้อมวิธีกินอย่างไรให้ปลอดภัย

จริงหรือไม่? กิน “ผงชูรส” มากๆ ทำให้ “ผมร่วง” พร้อมวิธีกินอย่างไรให้ปลอดภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงจะเคยได้ยินตำนานการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงกลางเดือนไปจนถึงสิ้นเดือน แล้วมีคนใกล้ตัวสักคนที่พูดกับเราว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีแต่ผงชูรส กินบ่อยขนาดนี้ ระวังผมร่วงนะ” และเชื่อได้เลยว่าหลายๆ คนจะต้องมีความเชื่อว่า “การกินผงชูรสทำให้ผมร่วง” แน่นอน

แต่แล้วการที่ผมร่วงมันเกี่ยวข้องกับการกินผงชูรสจริงๆ หรือ? หรือผงชูรสมีอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่า? นั่นสิ ผงชูรสเป็นตัวร้ายจริงเหรอ? Tonkit360 จะพาทุกคนไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน

ทำความรู้จัก “ผงชูรส” กันก่อน

หลายคนรู้จักหน้าตาของผงชูรสดีว่าเป็นผลึกเล็กๆ สีขาวใส และก็รู้ดีด้วยว่าผงชูรสนั้นใช้ใส่อาหารทำให้อาหารอร่อย แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อวิทยาศาสตร์เก๋ๆ ของผงชูรส และอันที่จริง ก็มีความพยายามจะอธิบายกันมานานแล้วว่า ผงชูรสไม่ใช่ตัวร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่พระเอกก็ตาม

ผงชูรส (Flavour Enhancers) มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมท (Monosodium glutamate : MSG) ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของผงชูรสนั้นมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ โซเดียม และกรดกลูตามิก

  • โซเดียม (Sodium) คือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) หรือที่เรารู้จักกันว่า “เกลือแกง” เครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็ม ที่ทุกคนน่าจะรู้จักดี

  • กรดกลูตามิก (Glutamic) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดในโปรตีนจากธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานได้ และรับบทเป็นเพื่อนพระเอก เพราะมีส่วนทำให้ร่างกายสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายตัวอื่นได้ แม้ว่าตัวเองจะเป็นกรดอะมิโนชนิดที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายก็ตาม ปกติแล้ว กรดกลูตามิกจะมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ แล้วให้รสชาติอูมามิ (รสอร่อยกลมกล่อม) เนื่องจากกรดกลูตามิกจะทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Excitatory ออกฤทธิ์แบบกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทและสมอง ดังนั้น เมื่อเรากินอาหารที่มีกรดชนิดนี้เข้าไป กรดจะไปจับกับ Umami Receptor ที่อยู่บนผิวเซลล์ของต่อมรับรสบนลิ้น กรดกลูตามิกจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติอร่อยกลมกล่อมให้กับอาหารนั่นเอง

ผงชูรส ถูกค้นพบขึ้นมาในปี พ.ศ.2451 หรือประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว โดย ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ได้ค้นพบ “กลูตาเมต” ในสาหร่ายทะเลคมบุ ชิมไปชิมมาก็พบว่าเป็นที่มาของรสชาติความอร่อย จนเรียกรสชาตินี้ว่า “อูมามิ”

โดยผงชูรสที่เรากินเข้าไปแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างนั้น เกิดขึ้นมาจากกระบวนการหมักอาหารธรรมชาติ อย่างเช่น กากน้ำตาลอ้อย น้ำตาลจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งกระบวนการผลิตผงชูรสนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการผลิตเบียร์ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือน้ำส้มสายชู เพราะมันเกิดจากการหมักกากน้ำตาลของพืช จึงหมายความว่า ผงชูรสก็เป็นแค่สารปรุงแต่งรสชาติอาหาร กินได้ และไม่ใช่สารพิษแต่อย่างใด โดยร่างกายจะเผาผลาญสารนี้จนเกือบหมดที่ลำไส้เล็ก


กินผงชูรสแล้วผมร่วงจริงๆ เหรอ?

ไม่มีรายงานในวารสารทางการแพทย์ หรือข้อมูลจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ฉบับใดที่บ่งบอกว่าการกินผงชูรสทำให้ผมร่วง แถมยังจัดประเภทของผงชูรสว่าเป็นวัตถุที่ใช้เจือปนในอาหารได้อย่างปลอดภัย ฉะนั้น การกินผงชูรสไม่ได้ทำให้ผมร่วง แต่เป็นการอนุมานเอาเองมากกว่า คนที่ผมบางหรือผมร่วง ก็มักจะหาสาเหตุจนนำมาผูกโยงกับเรื่องอาหารการกินและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งตัวเองก็เป็นคนที่กินผงชูรสบ่อย จึงเริ่มเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผงชูรสกับอาการผมร่วง

อย่างไรก็ตาม ผงชูรสก็ยังเป็นตัวร้ายในสายตามวลมนุษย์จำนวนมาก จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากการที่พบผู้ที่มีอาการแพ้ โดยเป็นผู้ที่ไปกินอาหารที่ภัตตาคารจีนอาหารจีน และเกิดอาการผิดปกติขึ้นกับร่างกาย มีอาการชาที่แขน คอ และหลัง มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ใจสั่น หน้าแดง แน่นหน้าอก และเป็นลม โดยมีบันทึกอาการนี้ในวารสารทางการแพทย์

กลุ่มอาการดังกล่าวเรียกว่า Chinese restaurant syndrome หรือ MSG symptom complex ที่จะทำให้เกิดอาการชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว กระหายน้ำ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผงชูรสอาจกระตุ้นให้อาการของโรคหอบหืดและไมเกรนกำเริบได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะผงชูรสจริงๆ หรือไม่

รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการกินผงชูรสที่อาจเกิดขึ้นได้กับบางคน เช่น ลิ้นชา ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ หรือมีอาการแพ้ ในผู้ที่แพ้มาก จะมีอาการชาบริเวณหู ใบหน้า วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจกลายเป็นอัมพาตตามแขนขาชั่วคราว แต่อาการดังกล่าวจะหายเองในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ ส่วนทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน หากกินผงชูรสเข้าไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองได้เช่นกัน


แล้วผงชูรสมีโทษต่อร่างกายหรือไม่

เป็นธรรมดา ที่อะไรที่มากเกินพอดี มากเกินไปย่อมมีผลเสีย ผงชูรสเองก็เช่นกัน สิ่งที่น่ากลัวของผงชูรส ไม่ได้ทำให้ผมร่วง หัวล้านอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่ผงชูรสนั้นเป็นเกลือชนิดหนึ่งที่ไม่มีรสชาติเค็ม (โซเดียมคือเกลือ) เราก็จะไม่รู้สึกถึงความเค็มในปาก กินมากเท่าไรก็ไม่เค็มแต่อาหารอร่อยขึ้น เราก็อาจจะกินอย่างไม่มีลิมิต จนในที่สุด ปริมาณโซเดียมที่ได้รับก็เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งอันตรายก็อยู่ตรงนี้นี่เอง ใช้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานหากเรากินของเค็มเข้าไปมากๆ ทำให้เรามีโอกาสเป็นโรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูงได้


กินผงชูรสอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

ผงชูรสนั้นก็เป็นเพียงวัตถุเจือปนในอาหาร ที่ใส่ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติอร่อยให้อาหาร ซึ่งผงชูรสนั้นไม่ได้มีรสชาติเป็นของตัวเอง แต่จะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมรับรสในปาก อาหารที่ใส่ผงชูรสจึงได้มีรสชาติดีขึ้น ส่วนปริมาณที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยจะอยู่ที่ 1 ช้อนชาต่อมื้อ โดยไม่ใส่เครื่องปรุงอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะผมจะร่วงหรืออาการแทรกซ้อนใดๆ แต่เสี่ยงจะเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับความเค็มต่างหาก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook