เชื้อ "โควิด-19" มากับอาหารแช่แข็งได้ จริงหรือ?

เชื้อ "โควิด-19" มากับอาหารแช่แข็งได้ จริงหรือ?

เชื้อ "โควิด-19" มากับอาหารแช่แข็งได้ จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ทราบกันแล้วว่า สาเหตุที่พบเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ครั้งแรก มาจากตลาดขายอาหารทะเลสดในเมืองอู่ฮั่น และพบในเขียงหั่นปลาแซลมอนในตลาด หลายคนจึงกังวลกันว่าอาหารทะเลแช่แข็งที่มาจากเมืองจีน หรือจากแหล่งอาหารต่างประเทศ จะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนามาด้วยหรือไม่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการระบาด โควิด-19 ในจีนเกี่ยวข้องกับตลาดตั้งแต่เริ่มต้นที่อู่ฮั่น การระบาดในปักกิ่ง และการระบาดที่ ต้าเหลียน (Dalian) มณฑลเหลียวนิง Liaoning

การระบาดที่อู่ฮั่น ก็เป็นตลาดค้าของสด อาหารทะเล และสัตว์มีชีวิต การระบาดที่ปักกิ่ง ตลาดซินฟาดี มีการพบเชื้อที่เขียงปลาแซลมอน นำเข้าจากเดนมาร์ก

การระบาดล่าสุดตลาดที่ ต้าเหลียนก็มีการพบเชื้อที่กุ้ง ที่ส่งมาจาก เอกวาดอร์ ทำให้ทางการจีนต้องระดมเชิงรุกตรวจทั้งสิ่งแวดล้อม และคนเป็นแสนราย เพื่อป้องกันการระบาด”

ในขณะเดียวกัน ทางด้านของเว็บไซต์ New York Times ระบุว่า แม้ว่าจะมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากปีกไก่แช่แข็งจากบราซิลที่ส่งไปประเทศจีน แต่ก็มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะพบเชื้อไวรัสในอาหาร รวมถึงแพกเกจที่ใส่อาหารด้วย

แองเจลา ราสมุสเซ็น นักวิทยาไวรัสจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย กล่าวว่า “(การพบไวรัสในปีกไก่แช่แข็ง) นี่หมายความว่าบางคนที่ถือปีกไก่แช่แข็งติดเชื้อเหล่านั้น อาจเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าปีกไก่แช่แข็งเหล่านั้นจะปนเปื้อนหรือติดเชื้อไวรัสตั้งแต่แรก”

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ยังไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่แสดงให้เห็นว่าการนำส่ง ถือ หรือการบริโภคอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19 ช่องทางที่สำคัญในการติดต่อของเชื้อไวรัส ยังคงเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยน้ำลายของผู้ป่วยที่มาจากการไอ จาม พูด หรือแม้กระทั่งการหายใจ”

ซี. แบรนดอน โอคบูนู นักศึกษาโรคติดต่อทางนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเยล ระบุว่า “ฉันไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง (การติดเชื้อไวรัสในอาหาร) และความกลัวในเรื่องนี้ ว่าจะทำให้เกิดการส่งต่อของเชื้อไวรัสในระยะไกล” และยังระบุว่า หากพบการติดเชื้อไวรัสในอาหาร มีความเป็นไปได้สูงมากกว่าที่จะมาจากคนที่เป็นผู้สัมผัส จับต้อง และลำเลียงขนส่งอาหาร มากกว่าจะพบการติดเชื้อไวรัสในตัวอาหารเอง

ดังนั้นจึงมีข้อสรุปได้ว่า เราอาจพบการติดเชื้อไวรัสในอาหารแช่แข็งได้จริง แต่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อในตัวอาหารเอง แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการลำเลียง ขนส่ง การถือ สัมผัสอาหารเหล่านั้น จากพนักงาน หรือคนที่ติดเชื้อไวรัสมากกว่า


วิธีรับประทานอาหารแช่แข็งให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส

หากมีความกังวลว่าจะพบเชื้อไวรัสในอาหารแช่แข็งหรือไม่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แนะนำว่า “การจับต้อง การเตรียมอาหารจะต้องล้างมือให้สะอาด ไม่จับต้องใบหน้า ระวังสัมผัสกับอาหารอื่น และควรบริโภค (ด้วยวิธีการปรุง) สุก เพื่อป้องกันไว้ก่อนเพื่อกันการระบาด”

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook