จิตแพทย์แนะ 12 วิธีคุยเรื่อง "การเมือง" ในครอบครัวอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน

จิตแพทย์แนะ 12 วิธีคุยเรื่อง "การเมือง" ในครอบครัวอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน

จิตแพทย์แนะ 12 วิธีคุยเรื่อง "การเมือง" ในครอบครัวอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ่อยครั้งที่เราเห็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งคู่รักมีปากเสียงกันเพราะทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกัน การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่เราจะคุยเรื่องการเมืองอย่างไรให้เราทุกคนยังอยู่ร่วมกันได้ Sanook Health มีข้อมูลดีๆ จาก หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา มาฝากทุกคน ทุกครอบครัวกัน

#คุยกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกันเพราะการเมือง

คุณแม่ของลูกวัยรุ่นท่านหนึ่งส่งข้อความมาหา ช่วงนี้หมอพบว่ามีหลายๆ ครอบครัวที่มีความเห็นต่างเรื่องการเมือง เพื่อนจิตแพทย์ของหมอก็เล่าว่า มีเคสที่ลูกเป็นคนมาปรึกษาเพราะว่าทะเลาะกับแม่เช่นกัน

ความขัดแย้งที่พบเห็นนี้ จึงอยากเขียนบทความที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นในการอยู่ร่วมกันสักหน่อย หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายบ้าน ในยุคการเมืองร้อนแรง จริงๆ ไม่ใช่แค่ในบ้าน อาจจะในโรงเรียน ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน ในสังคมย่อยๆ ที่เราอยู่

หมอขอตอบในกรณีของคุณแม่ท่านนี้ก็แล้วกันค่ะ น่าจะนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย

  1. ตั้งสติ ไม่โกรธตอบลูก เมื่อเขาแสดงอารมณ์แรงๆ เช่นนั้นกับคุณแม่ ยิ่งโกรธและตอบโต้กันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง

  2. พึงเข้าใจว่า คุณแม่และเขาต่างได้รับข้อมูลหลากหลาย มีประสบการณ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะยุคนี้ที่มีโซเชียลมีเดีย การเข้าถึงข้อมูลทำให้ลูกได้รับข้อมูลมากมาย ลองฟังเขาดูสักหน่อย

  3. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ฟังเขาก่อน อย่าเพิ่งรีบไปอธิบาย การที่เรายอมรับฟังเขาก่อน เขาจะรู้สึกว่าเราก็ดูใส่ใจสิ่งที่เขาคิดและรู้สึก ช่วยให้อารมณ์แรงของเขาบรรเทาเบาบางลง
  4. ถ้าฟังที่เขาพูดแล้วเกิดอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ กังวล เครียด ตั้งสติอย่าเพิ่งพูดโต้ตอบตอนมีอารมณ์ หายใจเข้าออกลึกๆ ก่อน เพราะเวลามีอารมณ์ทางลบบางทีจะตอบโต้ในลักษณะเชิงลบเช่น พูดบ่น ประชดประชัน เปรียบเทียบ บางทีมีคำพูดรุนแรง ยิ่งทำให้คุยไม่เข้าใจ

  5. แลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยเหตุผล ในเวลาที่แม่และลูกใจเย็นพอและมีความพร้อมทางอารมณ์ ถ้าลูกมีอารมณ์โกรธ สิ่งสำคัญคือ แม่ก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง เดี๋ยวอารมณ์เขาก็เย็นลง คุยกันใหม่

  6. แน่นอนคุณแม่ย่อมมีความคิดที่เป็นธงในใจ สิ่งที่เชื่อและคิดว่าเป็นเช่นนั้น ลูกก็เหมือนกัน ตระหนักในธงของแต่ละฝ่าย ลองทำความเข้าใจดู บางทีอาจจะมีบางอย่างที่เราเห็นตรงกันบ้าง เริ่มจากตรงนั้น จะทำให้คุยกันในประเด็นอื่นๆ ง่ายขึ้น

  7. แต่อย่าคุยในลักษณะบังคับให้เขาเปลี่ยนมาคิดตามคุณแม่ เขาอาจจะคุยในเชิงบังคับให้คุณแม่เปลี่ยนไปคิดเหมือนเขา ตรงนี้เราบอกเขาได้ว่า ความคิดต่างเป็นเรื่องธรรมดา เราจะไม่บังคับกันแต่จะฟังกันและกัน และนำไปพิจารณา หาข้อมูลที่เชื่อถือได้เพิ่มเติม เมื่อความคิดและข้อมูลต่างๆ ตกผลึก เดี๋ยวมาคุยกันอีกที

  8. จริงๆ คุณแม่กับลูกคิดไม่เหมือนกันไม่เป็นเรื่องผิด แต่ขอให้ความคิดและการแสดงออกความคิดไม่เป็นการทำให้ตัวเองหรือคนอื่นๆ มีผลกระทบ มีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน ถ้าลูกยังทำไม่ได้ คุณแม่ทำให้เขาเห็นก่อน

  9. คุยเรื่องอื่นนอกจากการเมืองบ้างก็ได้ อาจจะทำอะไรที่ลูกชอบ เช่น ชวนทานอาหารที่เขาชอบ ชวนดูซีรีส์ดีๆ ก็ได้

  10. ใช้หลักพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเขามีความคิดที่แตกต่างมาก รู้สึกไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ต้องวางอุเบกขา ไม่ต้องถึงกับเอาชนะคะคานกัน ถ้าลูกพยายามจะมาเปลี่ยนความคิดแม่ให้ได้ ก็ใช้ความสงบ ไม่ต้องโต้ตอบ บอกเขาว่าแม่เข้าใจหนู แต่แม่ก็มีความคิดของแม่ ไม่ต้องทะเลาะหรือเป็นอารมณ์รุนแรง

  11. ถ้าเครียดมาก คุณแม่ควรไปทำอะไรที่สบายใจ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง นวดผ่อนคลาย เข้าสปา โยคะ สมาธิ สวดมนต์ ไปโบสถ์ ชอปปิ้ง คุยกับเพื่อนสนิท ปีนเขา ฯลฯ อะไรก็ได้ที่ชอบและไม่มีโทษแก่ตัวเองและคนอื่นๆ เหมือนชาร์ตแบตให้ตัวเอง

  12. การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่อย่างไรครอบครัวก็ยังเป็นครอบครัว ถึงการเมืองจะเป็นแบบไหน ไม่มีอะไรจีรัง แต่ความเป็นแม่ลูกจะยังคงอยู่เสมอไป อย่าถึงกับทะเลาะกันเอาเป็นเอาตายเลย

เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ

#หมอมินบานเย็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook