"สายตายาว" มาแน่ เมื่ออายุย่างหลักสี่
สายตายาวถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเจอกันทุกคนเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าสายตาเริ่มยาวคือ อาการมองใกล้ไม่ชัด ทำให้ยืดระยะในการอ่านหนังสือหรือการเขียนหนังสือให้ไกลขึ้นจากเดิม ไม่เช่นนั้นก็อาจจ้องหรี่ตาลงเพื่อให้อ่านหนังสือได้ชัดขึ้น
ในกรณีจะเรียกว่า “สายตายาวตามวัย” ซึ่งต่างจาก “สายตายาวโดยกำเนิด” ที่เกิดจากขนาดของลูกตาเล็กเดินไป จนทำให้จุดรวมแสงของภาพไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา จึงเป็นสาเหตุของการปวดตา และมองเห็นไม่คมชัด
ขณะที่สายตายาวตามวัย หรือสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) เป็นผลจากการปรับโฟกัสของเลนส์ตาแย่ลง ทำให้มองวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามวัย จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้
อาการสายตายาว
- มองเห็นวัตถุระยะใกล้ได้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือ หรือร้อยด้ายกับเข็ม
- เกิดอาการไม่สบายตาหรือปวดศีรษะจากการที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรือวาดภาพ
- มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ปวดศีรษะ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานหนักเกินไปจากการโฟกัส มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น
- ปวดตาหรือบริเวณรอบดวงตา
- แสบตาหรือตาสู้แสงไม่ได้
- ต้องหรี่ตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน
สายตายาว สายตาสั้น นำค่ามาหักลบกันไม่ได้
ส่วนความเชื่อที่ว่าสามารถนำค่าสายตาสั้นมาหักลบค่าสายตายาวตามวัย เพื่อให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติได้นั้น เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เพราะการวัดค่าสายตาสั้น เอียงหรือยาวโดยกำเนิดนั้นจะวัดกันที่การมองไกล ให้มองวัตถุที่วางอยู่ในระยะไกลและแก้ปัญหาด้วยการใส่ค่าสายตาที่ทำให้มองไกลชัด
แต่สายตายาวตามวัยนั้นส่งผลต่อการมองใกล้ เกิดจากความเสื่อมของการโฟกัส ไม่ใช่ความเสื่อมที่เกิดจากแสงโฟกัสที่อยู่ในระยะไกล นั่นหมายความว่า ปัญหาสายตายาวตามวัย และปัญหาสายตาอื่นๆ จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่สามารถนำหลักการทางคณิตศาสตร์มาใช้และนำค่าสายตามาหักลบกันได้
สายตายาวป้องกันไม่ได้ แต่ดูแลได้
แม้ว่าสายตายาวไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถดูแลดวงตาของเราให้สามารถใช้งานไปได้นานๆ ได้ ด้วยการเลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การมองเห็นเป็นไปอย่างเหมาะสม
ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของดวงตาได้ โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตา และหากต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ ควรเปิดไฟและใช้ไฟที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น และช่วยให้ตาไม่ต้องเพ่งมากจนเกินไปจนอาจส่งผลให้ตาเสียในระยะยาวได้
หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง อาจมีผลกระทบต่อการมองเห็นได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงควรควบคุมและดูแลโรคให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ก็ควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่ เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด ตามัว เห็นจุดดำ เห็นเป็นรังสีหรือรุ้งรอบๆ ดวงไฟ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงได้ จึงควรรีบไปพบไปแพทย์