เช็กอาการ ปวดหัวแบบนี้ “ไมเกรน” หรือเปล่า?
พฤติกรรมของคนเราทุกวันนี้มักจะมีความเครียดแฝงอยู่เป็นนิจ บางคนที่เห็นยิ้มหรือหัวเราะอยู่นั้นก็อาจจะกำลังเครียดอยู่โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อาการที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือ อาการปวดศีรษะ
ถ้าเป็นการปวดหัวชั่วคราวปวดแล้วหายก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีความเครียด แต่ถ้าเริ่มปวดรุนแรงขึ้น ปวดเรื้อรัง และปวดข้างเดียวอยู่บ่อยๆ แล้วล่ะก็ คุณอาจจะกำลังป่วยเป็น “ไมเกรน”
มาเช็กกันหน่อยดีกว่า ว่าอาการปวดหัวที่เป็นอยู่นั้น เข้าข่ายเป็นไมเกรนหรือเปล่า
ไมเกรน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะโรคที่สำคัญ คือ อาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงลามมาปวดทั้ง 2 ข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ บางครั้งอาจปวดทั้ง 2 ข้างขึ้นมาพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก
โดยอาการปวดศีรษะไมเกรนนี้ เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura)
– อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซ็กคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้าๆ
– อาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือแขนหรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
ลักษณะอาการปวดหัวไมเกรน
- มักปวดตุบๆ เป็นระยะๆ แต่มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อๆ
- ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยจะค่อยๆ ปวดมากขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งปวดรุนแรงเต็มที่แล้วค่อยๆ บรรเทาอาการปวดลงจนหาย
- ในผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง จะมีความรู้สึกคล้ายกับมีอะไรกดทับที่ศีรษะตลอดเวลา ร่วมกับการปวดกระบอกตา
- ขณะที่ปวดศีรษะมักมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
- ระยะเวลาปวดอาจจะนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะนานไม่เกิน 1 วัน ในบางรายอาจจะมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น สายตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงกระพริบๆ อาการปวดนั้นไม่เลือกเวลา บางรายอาจจะปวดกลางดึก หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา บางรายปวดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจนกระทั่งตื่นนอนก็ยังไม่หายปวด
ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดไมเกรน
- ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อกโกแลต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และกาแฟ
- การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
- รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
- สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
- ยาบางชนิด
การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยไมเกรน
- สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และตรงตามเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากยังจำเป็นต้องดื่มให้ลดปริมาณลง เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
- ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น หรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที