รู้จักอาการ "แพ้นมวัว” เกิดจากอะไร? ป้องกันได้อย่างไร?
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อบริโภคอาหาร เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอาการแพ้อาหารนั้นๆ Tonkit360 จะพาไปรู้จักการแพ้อาหารอย่างหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้จัก นั่นก็คือ “การแพ้นมวัว” บางคนแพ้บางคนไม่แพ้ และก็ยังทำให้หลายคนสงสัยด้วยว่าแค่นมทำไมถึงแพ้ แล้วอาการแพ้เกิดขึ้นจากอะไร
นม เป็นอาหารจากธรรมชาติที่อุดมด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งยังนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย แม้ว่านมวัวจะมีประโยชน์ แต่สำหรับบางคนเป็นอาหารที่อันตราย เพราะทำให้เกิดอาการแพ้ คนกลุ่มนั้นจึงไม่สามารถดื่มนม และบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมได้
อาการแพ้นมวัวเกิดจากอะไร?
ความจริงแล้วอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อดื่มนมวัวนั้น มีสาเหตุเป็น 2 กลุ่ม
- การแพ้โปรตีนในน้ำนมวัว ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราตอบสนองต่อโปรตีนในนมที่เราดื่มเข้าไป คือ Caseins และ b-Lactoglobulin โดยกระบวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ที่แพ้โปรตีนในนมวัวนี้จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำงาน จนร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันนั้นแล้วแสดงอาการผิดปกติออกมา
- ความผิดปกติที่เกิดจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ในนม ประชากรโลกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีปัญหา “ร่างกายผลิตเอนไซม์ Lactase ลดลง” เมื่อดื่มนมร่างกายจะมีกระบวนการจัดการน้ำตาลแลคโตส เริ่มตั้งแต่สร้างเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสขึ้นจากลำไส้เล็ก เนื่องจากน้ำตาลแลคโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ จึงต้องย่อยให้เหลือน้ำตาลกลูโคส (Glucose) และน้ำตาลกาแลคโตส (Galactose) ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว แล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเอนไซม์สำหรับย่อยมีไม่เพียงพอ จึงเกิดความผิดปกติขึ้น
ลักษณะอาการของการแพ้นมวัว
ปกติแล้วอาการแพ้โปรตีนนมวัวจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากดื่มนม และอาการแพ้ก็จะแสดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่พบได้ทั่วไปคืออาการท้องเสีย แต่ในกลุ่มคนที่แพ้บางคน ไม่เพียงแต่เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วนเท่านั้น แต่ร่างกายยังแสดงอาการแพ้ในลักษณะอื่นอีก เช่น ปากบวม รู้สึกแสบร้อนในช่องปาก มีผื่นขึ้น ในรายที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงเฉียบพลัน อาจทำให้หลอดลมบวมจนปิดกั้นระบบทางเดินหายใจ และนี่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้
ส่วนผู้แพ้ที่ร่างกายมีความผิดกับน้ำตาลแลคโตส ทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสเพื่อดูดซึมไปใช้ได้ ในท้องจึงมีน้ำตาลแลคโตสเหลือจากการย่อย ส่งผลให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้นำน้ำตาลแลคโตสที่เหลืออยู่ไปหมัก เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และอื่นๆ ที่ทำให้เกิดแรงดันในลำไส้ แรงดันนี้จะกระตุ้นกล้ามให้เนื้อส่วนท้องแน่นเกร็ง และเกิดท้องเสีย บางกรณียังมีสารที่เกิดขึ้นจากการหมักก่อให้เกิดการขับน้ำในลำไส้ และความผิดปกติในการบีบตัวของลำไส้ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตสประมาณ 30–60 นาที
จะเห็นได้ว่าอาการแพ้นมของ 2 กลุ่มมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ร่างกายผิดปกติต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการวินิจฉัยเพื่อรักษาด้วย หากเกิดการวินิจฉัยสาเหตุที่ผิดพลาด ก็จะทำให้การรักษาที่ไม่ได้ผลได้เช่นกัน ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
การป้องกันอาการแพ้นมวัว
หลักๆ แล้วผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว ไม่ว่าจะแพ้โปรตีนในนมวัวหรือร่างกายผิดปกติกับน้ำตาลแลคโตสก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัวทุกชนิด นั่นหมายรวมอาหารที่ดัดแปลงจากนมด้วย และเพื่อทดแทนสารอาหารที่ควรได้รับจากนมวัว ก็ทำได้โดยหันไปดื่มนมที่ได้จากธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ แทน
แต่ในกลุ่มที่ร่างกายผิดปกติกับน้ำตาลแลคโตส สามารถบริโภคได้โดยต้องลดปริมาณ กำจัด หรือเปลี่ยนรูปน้ำตาลแลคโตสให้อยู่ในรูปน้ำตาลอื่นก่อน ผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาลแลคโตส ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสต่ำ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนม เช่น น้ำนมจากธัญพืช และถั่ว หรืออาจรับการรักษาโดยการบริโภคเอนไซม์ Lactase เสริม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วเท่านั้น