6 เคล็ดลับลดเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"

6 เคล็ดลับลดเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"

6 เคล็ดลับลดเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้สัญญาณเตือน มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป

สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็ง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ทำไมมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ถึงพบได้บ่อยในคนไทย?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงพบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ข้อมูลประมาณการณ์ ในปี 2561 จะมีผู้ป่วยใหม่ราว 13,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง ที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • ท้องผูกสลับท้องเสีย 
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง 
  • ถ่ายไม่สุด 
  • ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด 
  • ขนาดลำอุจจาระเล็กลง
  • มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ตัวช่วยรักษาโรคมะเร็งแบบ New Normal

ปัญหาอุปสรรคของการรักษาโรคมะเร็ง คือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมี จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกครั้ง บางครั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เป็นไปตามรอบการให้ยาและขาดความต่อเนื่อง กรมการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมผลักดัน นโยบายเรื่องการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) เป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ให้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่ดีกว่า อีกทั้งยังพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน มีต้นทุนต่ำกว่าการบริการยาเคมีที่โรงพยาบาลอีกด้วย การรักษาด้วยวิธี Home chemotherapy จัดเป็นการพัฒนารูปแบบบริการการแพทย์วิธีใหม่ หรือเรียกว่า “New Normal of Medical Service” สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

เคล็ดลับลดเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"

  1. ลดอาหารไขมันจากสัตว์สูง อาหารปิ้งย่าง ฟาสต์ฟู้ดต่างๆ
  2. ลดอาหารทอด โดยเฉพาะที่ทอดในน้ำมันที่ใช้ซ้ำ
  3. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก เนื้อแดดเดียว ฯลฯ
  4. รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ถั่ว ข้าวกล้อง ฯลฯ
  5. เลิกสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์
  6. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วิธีป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook