แพทย์แนะ 5 วิธีแก้อาการ "สะอึก" ด้วยตัวเอง
อาการ “สะอึก” เชื่อว่าเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อ ระหว่างช่องปอด และช่องท้องที่เกิดขึ้นเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยเกิดจากการที่เส้นประสาท vagus หรือ phrenic ถูกกระตุ้นจนทำงานแปลกไป จนเกิดจังหวะการขยับตัวของฝาปิดกล่องเสียงและกะบังลมเป็นจังหวะแบบไม่สัมพันธ์กัน เสียงสะอึกที่เกิดขึ้นมาจากการหายใจออกขณะที่กะบังลมเกิดการกระตุกทันที ทันใด ทำให้เกิดเสียงดังของการสะอึกขึ้น
อาการสะอึกสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่หากมีอาการสะอึกเป็นเวลานาน สะอึกแรงมีเสียงดัง หรืออยู่ในช่วงที่ไม่อยากให้มีอาการสะอึก เช่น ในโรงภาพยนตร์ หรืออยู่ในระหว่างการประชุม นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือหมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว มีคำแนะนำในการแก้อาการสะอึกด้วยตัวเองมาฝากกัน
วิธีแก้อาการ "สะอึก" ด้วยตัวเอง
- หายใจเข้าออกลึกๆ และกลั้นไว้ หรือหายใจในถุงกระดาษ : อธิบายกันว่าพอคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเพิ่มขึ้น ร่างกายจะถือเป็นตัวกระตุ้นที่แรงกว่าในการปรับการทำงานของกล้ามเนื้อที่คุมการหายใจ ทำให้การสะอึกถูกกดไป การหายใจลึกๆ ทำให้กะบังลม (และกระเพาะ) ยืด มีการกระตุ้นเส้นประสาททั้งสอง
- กินน้ำ : การกินของลงไปต้องผ่านหลอดอาหารและกระเพาะ เกิดการกระตุ้น vagus nerve ไม่แนะนำให้กินอาหาร เพราะอาจเสี่ยงสำลักอาหารที่อันตรายกว่าอาการสะอึกได้
- กินน้ำในท่าแปลก : เมื่อการกินน้ำเอาไม่อยู่ก็อาจจะต่อด้วยการกินท่าแปลก เช่นไขว้มือกินน้ำจากฝั่งหูจับหรือจุดที่กินลำบากในท่าก้ม ทำให้ร่างกายต้องตั้งใจกลืนมากขึ้น ใช้กล้ามเนื้อในการกลืนเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งไปส่งผลทำให้เส้นประสาทที่เกี่ยวกับการกลืนทำงานมากขึ้น
- ทำให้ตกใจ : เชื่อว่าไปกระตุ้นการทำงานของ vagus nerve (พวกการเต้นของหัวใจ) กับกะบังลมทำงานแรงๆ (เวลาตกใจบางคนจะสะดุดหายใจชั่วขณะ) ทำให้หลุดสะอึกได้
- หาหมอ : อย่างที่บอกไปว่าการสะอึกเกิดจากการกระตุ้นเส้นประสาท vagus หรือ phrenic บางสาเหตุเกิดจากแผลหรือก้อนผิดปกติที่อยู่ในกระเพาะ ดังนั้นถ้าสะอึกไม่หาย ควรไปพบแพทย์