อาการมะเร็งปากมดลูก มีสัญญาณเตือนภัย ที่ควรสังเกตุ
อันที่จริงโรคภัยอันตรายร้ายแรงของผู้หญิงโดยเฉพาะก็มีไม่กี่โรคหรอกค่ะ หนึ่งในนั้นก็คือ "มะเร็งปากมดลูก" ที่หลายๆ คนแอบสงสัยว่าตัวเองกำลังเสี่ยง หรือกำลังจะเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่หรือเปล่า เวลาปวดท้องประจำเดือนหนักๆ ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยโรคนี้หรือไม่ และมีอาการมะเร็งปากมดลูก อย่างไร Sanook Health หาคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ
อาการมะเร็งปากมดลูก
- มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างไม่ทราบสาเหตุ เช่น ขณะ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ หลังตรวจภายใน
- ยังคงมีเลือดออกจากช่องคลอด หลังหมดประจำเดือนแล้ว หรือประจำเดือนมากะปริดกะปรอยผิดปกติ
- มีตกขาวอย่างเห็นได้ชัด และอาจมีเลือดปน
- มีอาการเจ็บ ขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดมากผิดปกติ หรืออาจปนเลือด
- ปัสสาวะบ่อย หรืออาจปวดบวม ปัสสาวะไม่ออก
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร ซูบผอม น้ำหนักลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้องน้อย
- หากอาการรุนแรงขึ้น อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ขาบวม ปวดหลัง ปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น
จะเห็นว่าอาการมะเร็งปากมดลูกที่เห็นได้ชัดเจน คือมีเลือดออกจากช่องคลอดขณะ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงอาการตกขาวที่อาจมีเลือดปนนะคะ หากพบอาการดังกล่าว บวกกับอาการในข้ออื่นๆ ด้วยแล้วล่ะก็ พบแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ แต่ถึงแม้จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็ยังมีวิธีป้องกันด้วยนะ
มะเร็งปากมดลูกพบได้ในใครบ้าง ?
จากข้อมูลหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยเป็นข้อมูลที่มาจากการสำรวจสถิติทั่วโลกพบว่า มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นโรคมะเร็งอันดับที่ 2 ที่จะพบได้ในเพศหญิงรองลงมาจาก มะเร็งเต้านม ซึ่งข้อมูลนี้ก็รวมถึงในประเทศไทยด้วย อีกทั้ง มะเร็งปากมดลูกก็ยังเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 30 - 70 ปี พบมากในช่วงอายุ 45 - 55 ปี แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจพบในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงไป และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป
ผู้หญิงควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อใด ?
ในการเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุควรจะเดินทางไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอ หรือที่เรียกกันว่า การตรวจแป๊บสเมียร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจคัดกรองเมื่อมีอายุประมาณ 21 - 25 ปีขึ้นไป ซึ่งหากพบความผิดปกติ แพทย์ก็อาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจแป๊บสเมียร์ซ้ำ หรือนัดตรวจแป๊บสเมียร์บ่อยขึ้น หรือพิจารณาตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย รวมถึงดุลพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ
ระยะของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
- ระยะเริ่มต้น หรือระยะที่ 0
เป็นระยะเริ่มแรกก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็ง เป็นระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแป๊บเสมียร์ ซึ่งหากเป็นการตรวจร่างกายธรรมดาก็ไม่อาจพบความผิดปกติได้ - ระยะที่ 1
เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัวขึ้นเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกเท่านั้น - ระยะที่ 2
เป็นระยะที่มะเร็งจะลุกลามออกจากบริเวณปากมดลูกไปยังบริเวณช่องคลอดส่วนบน หรือที่บริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ยังไม่ลุกลามไปจนถึงบริเวณผนังอุ้งเชิงกราน - ระยะที่ 3
เป็นระยะที่มะเร็งปากมดลูกจะลุกลามไปจนติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งนั้นอาจมีการกดทับบริเวณท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นๆ ไม่ทำงาน (อาจเกิดขึ้นได้กับไตทั้ง 2 ข้าง) - ระยะที่ 4
เป็นระยะที่มะเร็งปากมดลูกจะลุกลามเข้าไปสู่อวัยวะข้างเคียง ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก หรือเซลล์มะเร็งนั้นอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ อาทิ กระดูก ปอด สมอง และ/หรือต่อมน้ำเหลือง
อาการมะเร็งปากมดลูก
ในช่วงระยะก่อนที่จะเริ่มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือในระยะเริ่มแรกนั้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนได้เลย แต่สามารถทราบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเมื่อเริ่มเป็นมากจะมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นเลือดที่ออกกะปริบกะปรอยในช่วงระหว่างรอบเดือน
- มีประจำเดือนที่นานจนผิดปกติ
- มีเลือดออกจากช่องคลอดช่วงหลังพ้นวัยหมดประจำเดือนถาวรไปแล้ว
- หรืออาจมีเลือดออกเวลาที่มีเพศสัมพันธ์จากปกติที่ไม่เคยมี
- อีกทั้ง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปนออกมาด้วย
- รวมไปถึงในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บขณะที่มีเพศสัมพันธ์
หากว่ามะเร็งได้ลุกลามไปมากขึ้น หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือปวดก้นกบ หรือปวดหลังร้าวลงไปยังขา ซึ่งหากอาการที่เป็นไปกดทับเส้นประสาทก็อาจทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด และหากว่าเกิดการลุกลามเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ใหญ่ ก็อาจทำให้ขาบวม โดยหากเกิดการลุลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน ก็จะทำให้มีการปัสสาวะผิดปกติ หรือมีอาการไตวายเฉียบพลัน
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมี 3 วิธี
- การตรวจแปบเสมียร์
ในวิธีนี้แพทย์จะใช้ไม้พายเก็บเนื้อเยื่อที่ตรงบริเวณปากมดลูก จากนั้นก็จะส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ - ตินเพร็พ
วิธีนี้พัฒนามาจากการตรวจแบบแปบเสมียร์ โดยมีความแม่นยำและประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น แพทย์จะทำการเก็บเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ จากนั้นก็จะนำเซลล์ที่ได้เก็บลงในขวดน้ำตาตินเพร็พ แล้วจึงนำส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการต่อไป - การตรวจแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA
วิธีนี้จะเป็นการตรวจด้วยการทดสอบ Thin Prep Plus Cervista HPV DNA ซึ่งการตรวจหามะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV ในสายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก แล้วก็จะมีการตรวจแบบเจาะลึกขึ้นไปว่ามีการติดเชื้อ HPV16 และ 18 หรือไม่ โดยการตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยบอกความเสี่ยงของการเกิดรอยโรคแอบแฝงได้
สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากลูกช่วงการตรวจที่ดีที่สุดนั้น คือ 10 ที่อยู่ตรงกลาง โดย 1 เดือนจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 10 วัน โดยเป็นวันแรกที่มีประจำเดือนให้นับเป็นวันที่ 1 และนับต่อไปวันที่ 11 หลังจากที่มีประจำเดือนวันแรกไปจนถึงวันที่ 20 ซึ่งค่าเบี่ยงเบนนั้นจะมีน้อยกว่า นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคัดกรองมากที่สุด
เมื่อพบว่าเป็น 'มะเร็งปากมดลูก' ต้องทำอย่างไร
เมื่อมะเร็งปากมดลูกเพิ่งเกิดขึ้นในระยะแรก การผ่าตัดก็นับว่าเป็นวิธีที่ให้ผลดีมากที่สุด แต่หากปล่อยไว้จนเกิดการลุกลามแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้รังสีเพื่อฉายแสงร่วมกับการใส่แร่ หรือผสมผสานกับการผ่าตัดด้วยรังสีและให้ยาเคมีบำบัด โดยต้องให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้นเป็นผู้ลงมือ ดังจะอธิบายได้ต่อไปนี้
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ : วางแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุดและสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเดิมได้มากที่สุด
- พยาบาลเฉพาะทาง : คอยให้คำแนะนำ คำปรึกษากับผู้ป่วยเกี่ยวกับมะเร็งในสตรี เป็นผู้ที่คอยทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายไปจนถึงจิตใจ คอยเฝ้าติดตามอาการ พร้อมทั้งติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ : คอยจัดยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยให้เป็นไปตามข้อมูลการพิจารณาของแพทย์ ทั้งยังต้องติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
- นักโภชนาการ : มีหน้าที่จัดอาหารที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากในผู้ป่วยก็มีความต้องการสารอาหารที่เฉพาะแตกต่างกันไป โดยต้องได้รับการวางแผนเรื่องอาหารที่เหมาะสม ทั้งนักโภชนาการยังต้องแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารของผู้ป่วยในกรณีที่ต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เพื่อให้สุขภาพร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ
- นักกายภาพบำบัด : มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด เพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้
อะไรคือความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
เมื่อผู้ป่วยตรวจพบแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ขั้นแรกก็จะต้องทำใจยอมรับและเข้มแข็ง เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามขั้นตอนและมีโอกาสที่จะดีขึ้น ไม่เช่นนั้นหากเรามีภาวะเครียด คิดมาก หรือมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบกับสิ่งเป็นอยู่ก็อาจทำให้ตัวโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม แล้วปัจจัยไหนบ้างล่ะที่เข้ามาทำให้ความเสี่ยงที่โรคจะพัฒนาสูงขึ้น
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาว
- มีคู่นอนหลายคน
- สูบบุหรี่
- มารดาใช้ยาไดเอ็ททิลสติลเบสตรอลในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์
- มีภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
แพทย์วินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอด พร้อมกับตรวจคลำหน้าท้อง รวมถึงการตรวจทางทวารหนักเพื่อที่จะได้เห็นปากมดลูกอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการตรวจการลุกลามของโรคภายในอวัยวะข้างเคียงด้วย (คลำได้ทางทวารหนัก) ถ้าหากพบก้อนเนื้อ และ/หรือแผล แพทย์ก็จะทำการตัดชื้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่พบก้อนเนื้อ หรือแผนที่ชัดเจน แต่จากการตรวจแป๊ปสเมียร์มีความสงสัยเกี่ยวกับความผิดปกติ แพทย์นรีเวชก็อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องขยายที่เรียกว่า คอลโปสโคป (Colposcope) จากนั้นก็จะพิจารณาตัดชิ้นเนื้อในส่วนที่ผิดปกติเพื่อส่งตรวจทางพยาธิเพิ่มเติมต่อไป
วิธีป้องกัน มะเร็งปากมดลูก
- ตรวจสุขภาพ หามะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกทุก 6 เดือน
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ
- ข่าวดีคือ มีวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอฉีดวัคซีนได้ค่ะ
ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และตรวจภายในเพื่อหามะเร็งปากมดลูกกันด้วยนะคะ กันไว้ดีกว่าแก้นะ