"เอ็นข้อมืออักเสบ" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
ปวดข้อมือ ไม่สามารถยกของได้ อาการเริ่มต้นของ “เอ็นข้อมืออักเสบ”
เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นอย่างไร?
นายแพทย์อธิราช เมืองแสน โรงพยาบาลศิครินทร์ ระบุว่า อาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือ เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านหลังทางฝั่งนิ้วโป้ง ทำให้เกิดการตีบหรือหดตัวการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน โดยส่วนใหญ่สาเหตุของอาการเกิดจากความเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้นหรือจากการใช้งาน รวมถึงโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์
สาเหตุของเอ็นข้อมืออักเสบ
รศ.นพ.วิทเชษฐ พิชัยศักดิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการ “เอ็นข้อมืออักเสบ” อาจมีสาเหตุมาจากการโดนกระแทก หรือใช้งานข้อมือมากเกินไป และจะพบในกลุ่มคนที่ใช้งานข้อมืออย่างหนักในการทำงานต่างๆ เช่น งานบ้าน ดังนั้นในกลุ่มแม่บ้าน คนที่ทำอาชีพแม่บ้าน ทำความสะอาด จะมีความเสี่ยงต่ออาการนี้มากกว่าคนอื่นๆ รวมถึงการพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการเอ็นข้อมืออักเสบ
มักพบอาการอักเสบในบริเวณเอ็นข้อมือที่ลากต่อมาจากโคนนิ้วโป้ง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ปกติ เช่น
- ยกของไม่ได้ (ที่ใช้นิ้วโป้งช่วยพยุงน้ำหนักของด้วย)
- บิดผ้า
- กำมือโดยใช้ทุกนิ้ว (นิ้วโป้งขยับไม่ได้ จะมีอาการเจ็บ)
- ข้อมือมีอาการบวม เพราะอักเสบ
วิธีรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ
- รับประทานยาแก้อักเสบ
- ใส่เฝือกอ่อนที่ช่วยพยุงข้อมือเอาไว้ ไม่ให้ใช้นิ้วโป้งเยอะเกินไป
- ฉีดยาแก้อักเสบ เป็นวิธีที่ช่วยให้หายเร็วยิ่งขึ้น โดยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
- ผ่าตัด ใช้เป็นวิธีสุดท้าย เมื่อทุกวิธีไม่สามารถรักษาให้หายได้
วิธีป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบ
- ลดกิจกรรมที่ใช้งานข้อมือมากๆ เช่น ทำงานบ้านหนักเกินไป รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ
- อย่ายกของหนักมากเกินไป หรือยกของด้วยสองมือเสมอ
- หากมีความจำเป็นต้องยกของหนัก ควรแบ่งยกทีละเล็กละน้อย หากเป็นของใหญ่ชิ้นเดียว ควรให้คนอื่นช่วย หรือใช้อุปกรณ์ในการช่วยแบ่งเบาน้ำหนัก