8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ”

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ”

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใจสั่น แน่นหน้าอก จุกแน่นจนหายใจไม่ออก จากภาวะโรคหัวใจ เป็นอาการที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือเป็นบ่อยแค่ไหน หลายครั้งที่เมื่อเดินทางไปพบแพทย์ มักไม่แสดงอาการ ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยว่าสาเหตุของอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจชนิดไหน จึงกล่าวได้ว่า โรคหัวใจ คือ ภัยเงียบที่น่ากลัวและไม่ควรมองข้าม

นายแพทย์ธัญญ์ สุวัฒนวิโรจน์ แพทย์ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจมีเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลทางสถิติกระทรวงสาธารณสุข (2561) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิต 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

สาเหตุของโรคหัวใจ

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจมาจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องของกรรมพันธุ์ เพศ อายุที่มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง ทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เครียดสะสม การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ ทั้งนี้ สามารถแบ่งชนิดของโรคหัวใจได้ 6 ประเภท คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการแสดงและแนวทางในการรักษาโรคหัวใจแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกัน

8 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ” 

สัญญาณเตือนว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ คือ

  1. เหนื่อยง่าย
  2. หายใจลำบากเวลาออกกําลังกายหรือเดินเร็วๆ
  3. เจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก
  4. ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยและอึดอัด
  5. มีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมานั่งกลางดึก
  6. เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ  
  7. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ  
  8. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

วินิจฉัยโรคหัวใจด้วย Cath Lab

ในประเทศไทยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วย “โรคหลอดเลือดหัวใจ” มากที่สุด เทคโนโลยีสำคัญที่จำเป็นต่อการช่วยลดอัตราการสูญเสีย คือ เทคโนโลยีห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Lab) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า Cath Lab ซึ่งเป็นห้องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลภาพหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดตามส่วนอื่นๆ สามารถปรับหมุนได้รอบทิศทาง ทำให้แพทย์ดูภาพได้จากทุกมุมตามต้องการ สามารถตรวจดูซ้ำได้อย่างละเอียด ช่วยให้ง่ายต่อการวินิจฉัยโรค ว่ามีความรุนแรงอยู่ที่ระดับใด  สามารถตรวจดูตำแหน่งผิดปกติและความรุนแรงของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน นอกจากนี้ยังสามารถดูการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หากพบความผิดปกติ เส้นเลือดหัวใจตีบอุดตัน แพทย์จะสามารถทำการรักษาได้โดยการใส่บอลลูนขยาย และ/หรือใส่ขดลวดถ่างขยาย (Stent) ได้ทันท่วงที

วิธีป้องกันโรคหัวใจ

โรคหัวใจ เป็นโรคที่สามารถป้องกันและลดการเกิดการสูญเสียได้ ซึ่งวิธีการป้องกันก่อนการเกิดโรคเป็นวิธีการที่ดีที่สุด คือ

  1. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  2. พยายามรักษาโรคความดันโลหิต
  3. รักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น
  4. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  5. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  7. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  8. งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook