ดื่ม "กาแฟ" เท่าไรก็ไม่หายง่วง? อาจเสี่ยง "ภาวะดื้อคาเฟอีน"
คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารที่สามารถพบได้ตามอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อร่างกายได้รับสารคาเฟอีนแล้ว จะไปเพิ่มสารเคมีในสมอง ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ต่อสู้กับอาการเมื่อยล้า ด้วยเหตุนี่หลายๆ คนจึงหันมาดื่มกาแฟ เพื่อเป็นตัวช่วยในการทำงานของเช้าวันใหม่ แต่สำหรับบางคนที่ดื่มกาแฟในปริมาณเท่าเดิม แต่ร่างกายกลับไม่ตอบสนอง หรือตอบสนองได้น้อยลง
Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจ ที่จะช่วยอธิบาย ภาวะดื้อคาเฟอีน ว่าคาเฟอีนนั้นตอบสนองต่อร่างกายของคนเราอย่างไร และตอบสนองต่อความทนทานต่อคาเฟอีนของร่างกายลดลงจริงหรือไหม
ภาวะดื้อคาเฟอีน (Caffeine tolerance) คืออะไร?
คาเฟอีนเป็นสารที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเองจากร่างกายตามธรรมชาติ แต่เป็นสารที่เราต้องบริโภคเข้าไป ร่างกายจึงจะได้รับสารนี้ ดังนั้นผู้ที่ได้รับคาเฟอีนในครั้งแรก หรือไม่ได้บริโภคคาเฟอีนติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายจะตอบสนองต่อการบริโภคคาเฟอีนได้ดีที่สุด คาเฟอีนจะทำงานได้ดีที่สุด ดังนี้
- รู้สึกสบายตัว
- ตื่นตัว
- เพิ่มพลังงาน
- มีสมาธิในการทำงาน
แต่การบริโภคคาเฟอีนในขนาดและปริมาณเท่าเดิมเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อคาเฟอีน เป็นภาวะที่ร่างกายจะตอบสนองต่อคาเฟอีนที่ได้รับน้อยลง จนกระทั่งรู้สึกปกติ แม้ว่าจะบริโภคคาเฟอีนในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม เมื่อร่างกายเกิดภาวะดื้อคาเฟอีน หากไม่ได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากขึ้น จะทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น
ภาวะดื้อคาเฟอีน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ภาวะดื้อคาเฟอีนเป็นภาวะที่ ร่างกายสามารถทนทานต่อผลกระทบของคาเฟอีนได้ ทำให้คาเฟอีนนั้นออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งส่งผลต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน ภาวะดื้อคาเฟอีนนั้นสามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ จริงๆ แล้วคาเฟอีนนั้นทำหน้าที่เสมือน ยาเสพติด เมื่อร่างกายเสพติดคาเฟอีนจนรู้สึกขาดมันไม่ได้ จนเกิดภาวะดื้อคาเฟอีน จะยิ่งทำให้เรานั้นดื่มคาเฟอีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งการได้รับคาเฟอีนที่มากเกินไปนั้นอาจส่งผลทำให้ตับทำงานหนัก รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อดนอน นอกจากนี้การดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไป ยังสามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจได้
ป้องกันภาวะดื้อคาเฟอีนอย่างไรให้อยู่หมัด?
ภาวะดื้อคาเฟอีนเป็นภาวะที่สามารถรีเซ็ตหรือว่าป้องกันได้ ดังนี้
-
กำจัด คาเฟอีน ออกจากระบบในร่างกาย
ผู้ที่ติดคาเฟอีนมากๆ จนเกิดภาวะดื้อคาเฟอีนนั้น จำเป็นที่จะต้องทำการดีท็อกซ์คาเฟอีน เพื่อกำจัดคาเฟอีนออกจากระบบในร่างกาย เมื่อทำการกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายได้ จนกลับสู่ภาวะปกติ การบริโภคคาเฟอีนในระดับปกติก็จะกลับมาตอบสนองต่อร่างกายเช่นเดิม ซึ่งระยะเวลาในการดีท็อกซ์นั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวัน บางคนอาจใช้ระยะเวลาในการดีท็อกซ์ 2 สัปดาห์ แต่สำหรับบางคนที่บริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่มากอาจจะใช้เวลาในการดีท็อกซ์ถึง 2 เดือน
-
บริโภคคาเฟอีนเป็นครั้งคราว
การบริโภคคาเฟอีนทุกวันทำให้ร่างกายติดคาเฟอีนได้ เช่นเดียวกับการเสพสารเสพติด ซึ่งการบริโภคคาเฟอีนเป็นครั้งคราวเป็นวิธีป้องกันการเกิดภาวะดื้อคาเฟอีนได้ จึงควรเลือกบริโภคคาเฟอีนเมื่อจำเป็นเท่านั้น จึงจะเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพ
บริโภคคาเฟอีนเท่าไรจึงจะปลอดภัย?
จากการวิจัยพบว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถบริโภคคาเฟอีนได้ถึง 400 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้หญิงตั้งครรภ์บริโภคคาเฟอีนได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือสูงสุด 300 มิลลิกรัมต่อวัน
หลายๆ คนมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำทุกวัน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการกระตุ้นร่างกายให้มีความตื่นตัว แต่หากรับประทานเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายทนต่อคาเฟอีนจนไม่ตอบสนองต่อคาเฟอีน ดังนั้นจึงควรดื่มคาเฟอีนเท่าที่จำเป็นเพื่อสุขภาพ