วิธีลดกลิ่นปากจากกระเทียม สะตอ หอมหัวใหญ่ ทุเรียน กะปิ ปลาร้า
อาหารไทยใส่เครื่องปรุง และเครื่องเทศมากมายที่ทำให้มีรสชาติอร่อยและเข้มข้น แต่ก็ต้องแลกมากับกลิ่นอันรุนแรงในอาหารสุดอร่อยเหล่านั้นที่ทำให้บางครั้งเราก็ต้องอดใจไม่กินเพราะกลัวปากเหม็น หรือถ้าหากอยากกินและเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องพยายามหาวิธีทางมาลดกลิ่นปาก ซึ่งในหลายๆ ครั้งแปรงฟันและบ้วนปากก็ยังไม่อาจลดกลิ่นเหล่านั้นลงได้
ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนาศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำวิธีลดกลิ่นปากจากอาหารกลิ่นแรงเหล่านี้กัน
กระเทียม
สาเหตุของกลิ่นกระเทียมมาจากเอนไซม์ในกระเทียมที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารอัลลิซินที่เกิดจากการตัดหรือเคี้ยว ซึ่งสารนี้เป็นสารประกอบในกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นปากและลมหายใจ ซึ่งกลิ่นนี้อาจจะอยู่ได้ถึง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันเลยทีเดียว
แม้ว่าจะทำให้มีกลิ่นแรง แต่สารอัลลิซินในกระเทียมช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต และไขมันในเลือด
วิธีลดกลิ่นกระเทียม
- ดื่มนม โดยเฉพาะนมที่มีไขมัน จะสามารถลดกลิ่นได้ดีกว่านมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย เพราะนมมีน้ำและไขมันเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถละลายสารประกอบของสารซัลเฟอร์ที่ละลายทั้งในน้ำ และในน้ำมันได้ทั้งคู่ ทำให้ลดการระเหยของกลิ่นกระเทียมได้
- น้ำผลไม้ หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม เพราะน้ำผลไม้มีความเป็นกรด กรดจะสามารถเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่เปลี่ยนสารในกระเทียมที่มีกลิ่นออกมาได้
สะตอ
สะตอเป็นพืชตระกูลถั่วฝัก มีสารพฤกษเคมีที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และลดน้ำตาลในเลือด สะตอก็มีสารที่มีองค์ประกอบซัลเฟอร์ที่มีทำให้มีกลิ่นปากและลมหายใจเช่นเดียวกัน และร่างกายของเราจะมีการขับออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะของเรามีกลิ่นสะตอด้วย
วิธีลดกลิ่นสะตอ
กินมะเขือเปราะ เพราะมีสารพฤกษเคมี และเอนไซม์โพลีฟีนอล ออกซิเดส ที่ทำปฏิกิริยากับส่วนประกอบซัลเฟอร์ ช่วยลดกลิ่นของสะตอได้
หอมหัวใหญ่
หอมหัวใหญ่เป็นพืชกลุ่มเดียวกับกระเทียม มีสารประกอบซัลเฟอร์ หรืออัลลิซินที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ ที่ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำได้ดียิ่งขึ้นด้วย
วิธีลดกลิ่นหอมหัวใหญ่
หากรับประทานหอมหัวใหญ่ดิบในสลัด สามารถรับประทานควบคู่ไปกับผักกาดหอมได้ ผักกาดหอมดิบมีสารพฤกษเคมี และเอนไซม์โพลีฟีนอล ออกซิเดส ที่ช่วยลดกลิ่นของหอมหัวใหญ่ได้
ทุเรียน
ทุเรียนมีสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ง่าย ทำให้มีกลิ่นติดปากและลมหายใจเมื่อรับประทานเข้าไป หากรับประทานมากๆ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด
วิธีลดกลิ่นทุเรียน
สามารถรับประทานแอปเปิ้ลควบคู่ไปกับการทุเรียนได้ เพราะแอปเปิ้ลมีสารพฤกษเคมี และเอนไซม์โพลีฟีนอล ออกซิเดส ที่จะไปทำปฏิกิริยากับสารซัลเฟอร์ ทำให้ช่วยลดกลิ่นของทุเรียนได้
กะปิ ปลาร้า
กะปิ และปลาร้า ผ่านการถนอมอาหารด้วยการหมัก ทำให้มีกลิ่นจากการหมักเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีโซเดียมสูงที่ทำให้ไต และหัวใจของเราทำงานหนักมากขึ้นอีกด้วย
วิธีลดกลิ่นกะปิ และปลาร้า
เปลือกของผลไม้อย่างส้ม และมะนาว จะมีน้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยลดกลิ่นของกะปิ และปลาร้าได้ โดยรับประทานส้ม หรือมะนาวฝานบาง (ติดเปลือก) เคี้ยวในปากหลังรับประทานกะปิ หรือปลาร้า
นอกจากนี้ถ้ามีกลิ่นติดมือ หรือผิวหนังของเรา สามารถใช้เปลือกส้ม หรือมะนาวมาถูบริเวณที่มีกลิ่น และล้างด้วยน้ำสะอาดตามได้ด้วยเช่นกัน