"ปวดเข่า" อาจเสี่ยงโรคอันตรายกว่า "ข้อเข่าเสื่อม"
“ข้อเข่า” ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนส่งผลกระทบต่อเข่าได้ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองเป็นประจำ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการลื่นหกล้ม เหล่านี้ต่างส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าได้ทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อม และโรคอื่นๆ ตามมาได้
การทำงานของ “ข้อเข่า”
นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ข้อเข่า ประกอบด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง ลูกสะบ้า นอกจากนี้ยังมีอวัยวะที่สำคัญอย่าง กระดูกอ่อน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า ที่ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า นอกจากนี้ ยังมี เอ็นรอบๆ ข้อเข่า และเอ็นไขว้หน้าเอ็นไขว้หลังที่อยู่ด้านใน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงของเข่า และ หมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้ารองรับแรงกระแทกบริเวณเข่า ช่วยดูดซับและกระจายแรงจากน้ำหนักตัว
"ปวดเข่า" อาจเสี่ยงโรคอันตรายกว่า "ข้อเข่าเสื่อม"
อาการปวดเข่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น
- เส้นเอ็น (Ligament) หากมีการใช้งานซ้ำๆ เช่น นักกีฬา ที่มีการใช้งานเข่าซ้ำๆ อาจส่งผลให้เส้นเอ็นลูกสะบ้าทำงานหนัก ทำให้อักเสบ หรือการเกิดอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา หรือฝึกซ้อม การกระทบกระแทกรุนแรงจากการแข่งขันกีฬา เกิดการล้มเข่าบิด อาจทำให้เอ็นรอบๆข้อเข่า หรือเอ็นไขว้หน้าด้านในฉีกขาด ส่งผลให้เกิดการปวดบวมเข่า ข้อเข่าไม่มั่นคงได้
- กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดเข่าได้เช่นกัน ที่พบได้บ่อย เช่น กระดูกอ่อนลูกสะบ้าโดยอาจจะเป็นร่วมกับเอ็นลูกสะบ้าอักเสบก็ได้ เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ หรือมีการกระแทกซ้ำๆ จนทำให้เกิดการอักเสบ หรือสึกหรอขึ้นบริเวณกระดูกอ่อน หรือการงอเข่า นั่งยองเป็นประจำ การใช้งานข้อเข่าในการเดินขึ้นลงบันได ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรวมของสะโพก และขาไม่แข็งแรงมากพอ ก็ส่งผลทำให้คนไข้เกิดอาการปวดเข่าได้ หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกอ่อนอาจจะหลุดร่อน เป็นชิ้นมาขัดในข้อเข่าได้ (Loose Body)
- หมอนรองกระดูก (Meniscus) ปัญหาของหมอนรองกระดูกอาจเกิดจากความเสื่อมของเนื้อหมอนรองกระดูกตามการใช้งานตามอายุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา กระดูกอ่อนเกิดการเสียดสีกันไปเรื่อยๆ เกิดการสึกหรอไปเรื่อยๆ กลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้
ทั้งนี้ สาเหตุอื่นๆ เช่น การหกล้ม หรือลื่นไถลผิดท่า อาจจะทำให้หมอนรองกระดูกที่มีความเสื่อมอยู่แล้วฉีกขาดรุนแรงมากขึ้นได้ แต่ในคนที่อายุน้อย ไม่ได้มีปัญหาความเสื่อมของหมอนรองกระดูก หากประสบอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกฉีกขาด และมีอาการปวดเข่าได้เช่นกันในทุกเพศทุกวัย
ภาวะข้อเข่าเสื่อมก็จะมีอาการปวดเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากปวดด้านในข้อเข่า หากอาการเสื่อมเป็นรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้ปวดทั่วๆ หัวเข่าตามมา ซึ่งสาเหตุข้อเข่าเสื่อมอาจจะเกิดจากมีการบาดเจ็บของส่วนต่างๆ ในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูก และถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที
การวินิจฉับโรคจากอาการ “ปวดเข่า”
อาการปวดเข่า ส่วนใหญ่จะซ้อนทับกันไม่สามารถบ่งชี้ลักษณะอาการได้โดยตรงจากภายนอก แพทย์อาจประเมินอาการของคนไข้และวินิจฉัยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมได้ แต่หากสงสัยการบาดเจ็บรุนแรงในข้อเข่า การทำ MRI ประกอบเพิ่มเติมจะช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงและวินิจฉัยอาการได้ตรงจุด หากคนไข้มีอาการผิดปกติเช่น
- มีการเจ็บหรือปวดข้อเข่าผิดปกติ ประสบปัญหาในการเหยียดงอของข้อ มีอาการเหยียดไม่สุด งอไม่เข้า การยืนหรือลงน้ำหนักไม่ได้ หรือได้ไม่เต็มที่
- มีอาการปวด บวม ร้อนในตำแหน่งข้อเข่า เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการอักเสบของเข่า
- มีอาการปวดเรื้อรัง ไม่หาย ทานยาสามัญประจำบ้านแล้วไม่ดีขึ้น หรือพักขา ลดการเดินหรือกิจกรรมที่ส่งผลต่อข้อเข่าแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์
การรักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด
ปัจจุบันการรักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด ใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery ซึ่งเกิดการฉีกขาดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ฉีกแหว่ง ฉีกตามยาว หรือฉีกปลิ้นออกมาขัดและเสียดสีอยู่กับกระดูกข้อเข่าทำให้คนให้รู้สึกเจ็บ หรือขัดเวลาขยับเข่า ซึ่งการฉีกขาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คนไข้อาจพบเจอกับการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกในหลายรูปแบบหรือรูปแบบใดแบบหนึ่งได้
การรักษาจะใช้วิธีการเย็บซ่อมด้วยอุปกรณ์เย็บผ่านกล้อง โดยแพทย์จะเจาะรูแผลผ่าตัดที่เข่าเล็กๆ ประมาณ 2 -3 รู (ขึ้นอยู่กับลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก) ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ เข่าน้อย คนไข้ฟื้นตัวไว ภายหลังการผ่าตัดรักษาแพทย์จะให้คนไข้ทำกายภาพฟื้นฟู ลดอาการปวดบวม บริหารกล้ามเนื้อขาโดยรวม ฝึกการเหยียดงอเข่า ฝึกการเดิน หรืออาจใช้เครื่อง Alter – G เข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อและปรับสมดุลการเดิน ทั้งนี้ โปรแกรมการทำกายภาพและการออกกำลังกายของคนไข้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเป็นสำคัญ
การป้องกันอาการปวดเข่า
การป้องกันสามารถทำได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คนที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยง งอเข่า นั่งยอง คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ อาจฝึกการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อต้นขา และสะโพก
- ท่าเหยียดขาตรง (Straight Leg Raising) นั่งเก้าอี้ให้หลังตรง ยกขาขึ้น เข่าเหยียดตรงไม่งอ ค้างไว้ นับ 1-10 ต่อเซต ได้การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา
- สควอช (Squat) กางขาสองข้างระดับหัวไหล่ สามารถยกแขนเพื่อบาลานซ์ตัว หลังตรงเกร็งหน้าท้อง หย่อนก้นและย่อเข่าลงมา พยายามให้หัวเข่าไม่เลยเกินปลายเท้า ย่อเข่าลง 90 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการปวดเข่าแนะนำให้ย่อเข่าลงเพียง 45 – 60 องศา ที่เรียกว่าฮาร์ฟสควอช (Half Squat) ทำ 10 ครั้งต่อเซต
- Lunges เป็นท่าบริหารโดยการย่อขา เพื่อบริหารกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกคล้ายกับการสควอช แต่ใช้การก้าวมาด้านหน้า และย่อเข่าสลับกัน เป็นต้น
อาการปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ปัญหาจากโรคข้อเข่าเสื่อมแต่เพียงอย่างเดียว หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุต่อไป