สงสัยไหม? ยาที่เรากิน ทำไมรู้ว่าต้องไปออกฤทธิ์ที่ไหน?
ชีวิตนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยกิน “ยา” หรอกใช่ไหม อย่างน้อยที่สุดในชีวิตก็คงต้องเคยกินสักเม็ดสองเม็ดนั่นแหละ แต่เคยนึกสงสัยหรือไม่ ว่ายาพาราเซตามอล (ยาแก้ปวดหัว) รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังปวดหัว แล้วจะต้องทำให้เราหายปวดหัว หรือยาแก้แพ้ รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังแพ้อากาศ แล้วต้องทำให้อาการแพ้ของเราดีขึ้น ยานั้นฉลาดขนาดนั้นเลยเหรอ? ถ้าอย่างนั้น ยาที่เรากินเข้าไปมีกลไกการทำงานในร่างกายอย่างไร?
ยาที่เรากินเข้าไปรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปรักษาที่ไหน
ยาที่เรากินเข้าไปผ่านปาก ผ่านหลอดอาหาร (ทั้งยาเม็ดและยาน้ำ) นั้น ออกฤทธิ์รักษาถูกจุดได้อย่างไร กลไกในการทำงานของยาที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารนั้นต่างกับการทำงานของยาที่เราใช้ทาภายนอก โดยกระบวนการทำงานของยาที่ใช้ทาภายนอกร่างกาย เราสามารถกำหนดจุดที่แน่นอนได้ว่าจะทายาตรงไหน หากเราเป็นแผล เราก็จะใส่ยาบริเวณที่เราเป็นแผล เพื่อให้ฤทธิ์ยาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและสมานแผลให้หาย
แต่ยาที่เรานำเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ยาจะเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ในระหว่างเดินทางไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้ ยาจะถูกดูดซึมเกือบทุกอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติทางเคมีต่างกัน ดังนั้น สมบัติทางเคมีของยาจะเป็นตัวกำหนดว่ายาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณไหนมากกว่ากัน แต่ปกติแล้ว ยาทั่วๆ ไปจะดูดซึมได้ดีและหมดที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
ยาที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำหรือยาเม็ด ยาจะละลายกลายเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ แล้วผสมเข้ากับของเหลวในระบบทางเดินอาหาร จากนั้นบางส่วนจะซึมผ่านผนังของอวัยวะในระบบทางเดินทางอาหารก่อนที่จะเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นตัวยาจะถูกลำเลียงไปพร้อมกับเลือดเพื่อเข้าสู่ตับ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงของยา
ยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาจะกระจายไปตามเส้นเลือดที่แตกแขนงออกไปยังอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ซึ่งส่วนประกอบของเลือดนั้นมีอยู่มากมาย แต่องค์ประกอบสำคัญๆ ได้แก่น้ำและโปรตีน คุณสมบัติของยาบางตัวจะจับกับโปรตีนที่อยู่ในเลือด ในขณะที่ยาบางตัวมีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่จับกับโปรตีนในเลือด ยาจึงสามารถซึมออกมานอกเส้นเลือด เข้าสู่อวัยวะต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงของยา
เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะไม่คงสภาพอยู่ในรูปเดิมตลอด เนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีของยาจะละลายไปผสมกับสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อไปเจอกับองค์ประกอบทางเคมีอื่นๆ ในร่างกาย ก็จะทำปฏิกิริยากัน ยาก็จะเปลี่ยนรูปเป็นสารอื่นได้
“ตับ” เป็นอวัยวะที่มีบทบาทมากในการเปลี่ยนแปลงรูปของยา เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เลือดก็จะลำเลียงยามาสู่ตับด้วยเช่นเดียวกัน ตัวยาที่ผ่านตับแล้วจะเปลี่ยนสภาพ อาจจะเริ่มหมดฤทธิ์ (เตรียมขับถ่ายออก) มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น หรืออาจแปรสภาพเป็นพิษต่อร่างกายก็ได้เช่นกัน (ดังที่เห็นตามฉลากยาว่า “ไม่ควรกินยาตัวนี้เกิน…วัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ” นั่นเอง)
ยาที่แตกตัวแล้วถูกดูดซึมเข้ากระแสะเลือด เปลี่ยนสภาพการออกฤทธิ์แล้ว ยาที่อยู่ปนในน้ำเลือดจะถูกลำเลียงไปทั่วร่างกาย แต่เมื่อเลือดพายามาถึงจุดที่เรามีอาการ (หรือจุดที่ยาต้องออกฤทธิ์) สมบัติทางเคมีในตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณที่เรามีอาการ โดยทำปฏิกิริยากับบริเวณที่มีอาการของร่างกาย ซึ่งจะไประงับหรือยับยั้งอาการป่วยที่ร่างกายแสดงออกมา จากนั้นสมองจะสั่งการให้อาการป่วยที่ว่านั้นดีขึ้น จึงบรรเทาอาการเจ็บป่วยนั้นได้
ยกตัวอย่าง “ยาพาราเซตามอล” ที่หลายคนมักบ่นว่า ไม่ว่าจะไปหาหมอด้วยอาการใด หมอก็จะจ่ายยาพารามาให้เสมอ กลไกการทำงานของยาพาราเซตามอล เมื่อตัวยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ยาจะไปตอบสนองกับสารจากระบบประสาทส่วนกลาง (สารที่ทำให้เราเกิดอาการปวด) สารเคมีในยาจะไประงับการทำงานของสารตัวนั้น อาการปวดจึงค่อย ๆ ดีขึ้น เป็นเหตุผลว่าไม่ว่าเราจะปวดอะไรก็ตาม ยาพาราจึงเป็นยาที่ถูกจ่ายออกมาบ่อย ๆ เพราะมันช่วย “ระงับอาการปวด” แต่ถ้ามีการวินิจฉัยที่ลึกกว่านั้นว่าไม่ใช่อาการปวดธรรมดา ยาพาราก็ไม่มีผลต่อการรักษา
ของที่กินเข้าไปก็ต้องถูกกำจัดออก
กลไกปกติของร่างกาย เมื่อเรากินเข้าไป จะต้องผ่านกระบวนการย่อยสลาย ดูดซึมสารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนกากหรือเศษที่เหลือจะต้องถูกกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งจะออกมาในรูปของของเสียอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะ
ยาที่ละลายในน้ำได้ง่ายก็จะไม่เหลือกากในรูปของแข็ง แต่อยู่ในรูปของเหลว แล้วขับออกมาในรูปของปัสสาวะ ยาบางตัวถูกขับออกมาจากตับ ผ่านไปยังลำไส้เล็ก แล้วไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ (อวัยวะในขั้นตอนสุดท้ายของระบบย่อยอาหาร) แล้วปะปนออกมากับอุจจาระ (ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การกินธาตุเหล็กเสริมหลังบริจาคเลือด ที่ซองยาจะระบุว่ายานี้อาจทำให้อุจจาระเปลี่ยนสี นั่นเป็นหลักฐานว่ายาถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ)
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ายาเป็นสารเคมี และร่างกายมองว่ายาเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมออก ทำให้สารเคมีของยาบางส่วนอาจถูกกำจัดไปก่อนที่จะได้ออกฤทธิ์รักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ที่จ่ายยาต้องคำนวณปริมาณยาให้ถูกต้อง โดยมีปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนักตัว เพื่อให้ฤทธิ์ยาที่กินเข้าไปสามารถเดินทางไปถึงตับ และส่งไปยังส่วนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โลกนี้ไม่มียาที่รักษาครอบจักรวาล (ขนาดนั้น)
จากที่อธิบายไปข้างต้น คุณสมบัติทางเคมีของยาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน นั่นแปลว่า ยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับส่วนของร่างกายที่เข้ากับคุณสมบัติทางเคมีที่ถูกออกแบบมาของยา หากการวินิจฉัยเพื่อจ่ายยาไม่ถูกกับอาการที่ร่างกายเป็น ยาที่เรากินเข้าไปนั้นก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เพราะอาการเจ็บป่วยแต่ละอาการต้องการยาที่มีคุณสมบัติทางเคมีแบบเฉพาะเจาะจงกับอาการนั้น
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีตัวรับที่ไม่เหมือนกัน เปรียบเสมือนแม่กุญแจ ที่ถ้าไม่ใช่ลูกของมันก็ไขเข้าไปไม่ได้ แต่ถ้าลูกกุญแจถูกดอก ยาก็จะเข้าสู่เซลล์นั้นๆ ได้ แล้วไปออกฤทธิ์ในการรักษาเซลล์นั้นๆ
ดังนั้น สารเคมีที่นำมาผลิตเป็นยา จึงเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อใช้รักษาโรคหรืออาการแบบเจาะจง ในกรณีที่ยาออกฤทธิ์ต่ออวัยวะต่างๆ กว้างเกินไป ยาก็จะไปกระตุ้นเซลล์หลายเซลล์ แล้วอาจเกิดอาการที่เรียกว่า “อาการข้างเคียง” ของยาขึ้นมาได้ จนไปรบกวนอวัยวะอื่นที่ไม่ได้เจ็บป่วยให้ทำงานผิดปกติ
เช่นเดียวกัน ยาที่นำเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีด วิธีการออกฤทธิ์ของยาจะคล้ายกับยากิน ต่างกันตรงที่ยาฉีด แพทย์จะฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำ จากนั้นระบบไหลเวียนเลือดจะไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ปริมาณยาทั้งหมดจึงเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ไม่ผ่านการดูดซึมใดๆ ทั้งสิ้น แล้วไปทำการรักษาเฉพาะที่ แต่ยาฉีดมีชนิดที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อด้วย ยาจะไปสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกจากกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเดินทางไปออกฤทธิ์ต่อไป
ทั้งหมดนี้จึงเป็นการอธิบายว่า “ยาที่เรากินเข้าไปรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปรักษาที่ไหน”