"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ไม่มีสาเหตุจากพันธุกรรม สัมผัสสารเคมีอาจเพิ่มความเสี่ยง

"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ไม่มีสาเหตุจากพันธุกรรม สัมผัสสารเคมีอาจเพิ่มความเสี่ยง

"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ไม่มีสาเหตุจากพันธุกรรม สัมผัสสารเคมีอาจเพิ่มความเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถือเป็นโรคที่พบได้มากเป็นอันดับหนึ่งในมะเร็งทางโลหิตวิทยา กับการพบจำนวนเคสใหม่กว่า 6,000 รายต่อปี คิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 รายต่อปี ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รู้จัก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ที่ทำหน้าที่สร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เหล่านี้พบได้ในต่อมน้ำเหลือง ม้าม ไธมัส ไขกระดูกและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ Hodgkin Lymphoma (HL) และ Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) โดย NHL เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในไทยและทั่วโลก ด้วยอุบัติการณ์ที่มากถึง 4 ใน 5 รายของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่ความเสี่ยงในการเกิดโรคอาจพบได้ หากผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับสารเคมีเป็นระยะเวลานาน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนับเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายขาดสูง ดังนั้น การสังเกตอาการนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะการได้รับวินิจฉัยในระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดให้กับผู้ป่วยได้  โดยอาการที่ต้องสงสัยของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคือ มีก้อนโตขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ หรือขาหนีบ และอาจมีอาการ ไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน และน้ำหนักลดร่วมด้วย”

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ประกอบไปด้วย อายุ เพศ การติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในผู้ป่วย HIV และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune disease) และการสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุเพศชายมากกว่าเพศหญิง2

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาให้หายได้

ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะพบได้มากที่สุดในเพศชายช่วงอายุ 60-70 ปี แต่การเฝ้าระวังและสร้างความรับรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชากรทั่วไป เนื่องจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย โดยนางสาวโชติมา เทิดวิกรานต์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองวัย 35 ปีที่พบก้อนเนื้อผิดปกติใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกเมื่อห้าปีก่อนด้วยวัยเพียง 30 ปี ถือเป็นตัวอย่างของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ด้วยความตื่นตัวและการสังเกตความผิดปกติในร่างกาย ทำให้เธอรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษา จนปัจจุบันสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 

นางสาวโชติมา ได้เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังตรวจพบเมื่อปี 2558 ว่า “ส่วนตัวแล้วไม่ได้มีอาการป่วย หรือเข้าข่ายต่อการเป็นโรคร้ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพบก้อนเนื้อผิดปกติบนร่างกายก็ตัดสินใจไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อความสบายใจ และเมื่อพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็เริ่มทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดทันที เนื่องจากเราเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทำให้เราไม่ได้แสดงอาการอะไรมาก แต่ในเชิงกลับกันต้องมาประสบกับผลกระทบที่ค่อนข้างร้ายแรงของเคมีบำบัด อีกทั้งยังต้องใช้เวลารักษาที่ค่อนข้างนาน โดยส่วนตัวแล้วใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการรับยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในแต่ละรอบ ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนเพลียและเสียเวลาไปกับการรักษาเป็นอย่างมาก”

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ในปัจจุบันได้มีการรักษาด้วยเคมีบำบัดผ่านการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลลง เมื่อเทียบระหว่างการรับยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำกับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง พบว่าวิธีหลังประหยัดเวลาการรักษาและอยู่ในโรงพยาบาลได้ถึง 32 เปอร์เซ็นต์

นพ.ชวลิต กล่าวว่า “ในแง่ของการรักษา เคมีบำบัดเป็นการรักษามาตรฐานที่สามารถใช้ควบคู่กับวิธีการรักษารูปแบบอื่นได้ อย่างเช่นการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีและ มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งยังเป็นการรักษาที่คนไทยทุกสิทธิเข้าถึงได้ทุกคน นอกจากนั้นการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการย่นระยะเวลารักษาให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ระยะเวลาในการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook