แพทย์เตือน "โรคเหงือก" รีบรักษา ก่อนต้องเสียฟัน
ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบ เป็นหนึ่งในโรคช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม แนะพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจต้องถอนฟันในที่สุด
สาเหตุของโรคเหงือก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเหงือกเป็นหนึ่งในโรคช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม โดยโรคเหงือกนั้นมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ ก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก และเนื้อเยื่อปริทันต์รอบๆ ที่ช่วยพยุงฟัน ทำให้เกิดฟันโยก จนนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด ดังนั้นจึงควรรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แปรงฟันให้สะอาด และพบทันตแพทย์เป็นประจำ
โรคเหงือกอักเสบ กับ โรคปริทันต์อักเสบ
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเหงือกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามความรุนแรง คือ โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ
- โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะบริเวณเหงือก ทำให้เหงือกมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- เหงือกมีสีแดงคล้ำ
- เหงือกบวมแดง
- แปรงฟันแล้วมีเลือดออกง่าย
- มีกลิ่นปาก
หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมเหงือกจะสามารถกลับไปสู่สภาพเดิมได้หากปล่อยไว้ ไม่รักษา จะนำไปสู่การเกิดโรคปริทันต์อักเสบ
- โรคปริทันต์อักเสบ เกิดการทำลายของเอ็นยึดปริทันต์และการละลายของกระดูกเบ้าฟันตามมา โดยอาการเริ่มแรกของโรคคนไข้มักไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด แต่เมื่อโรคเป็นรุนแรงมากขึ้นอาจมีอาการ ดังนี้
- เหงือกบวมเป็นหนอง
- ฟันโยก
- ฟันยื่นยาว
- เคี้ยวอาหารเจ็บ
อย่างไรก็ตาม ฟันเหล่านี้ก็มักจะไม่สามารถรักษาได้ และถูกถอนไปเนื่องจากมีการทำลายของกระดูกเบ้าฟันไปมากแล้ว จึงต้องหมั่นสังเกตสภาพของช่องปากของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
วิธีป้องกันการเกิดโรคเหงือก
- แปรงฟันให้ทั่วถึงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันอย่างน้อยวันละครั้งเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน