หน้าฝน ระวัง "กลิ่นอับชื้น" ในที่ลับ
-
สังคัง เกิดจากเชื้อรา ที่มาพร้อมความอับชื้น และทำให้เกิดกลิ่นได้ ถ้าเป็นซ้ำบ่อย ๆ ต้องรับประทานยา ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
-
กลิ่นจากช่องคลอดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้บ่อยที่สุด โดยจะมีอาการตกขาวมีกลิ่นคาว รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ หากกลิ่นทางช่องคลอดนั้นรุนแรงมากหรือมีอาการผิดปกติ เจ็บ ปวดแสบปวดร้อน หรือมีอาการคันควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษา
-
การขาดธาตุเหล็ก (zinc) และภาวะความเครียด สามารถส่งผลให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น และทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้
เมื่อเข้าหน้าฝน ความชื้นในอากาศก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักจะพาโรคต่างๆ มาตามฤดูกาล ทำให้เราป่วยได้ง่ายขึ้นบางโรคก็รุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และบางโรคก็ดูจะไม่รุนแรงมากนักแต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญ รวมถึงยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย เช่น โรคเชื้อรา หรือกลิ่นอับไม่พึงประสงค์จากอวัยวะต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้มักมาพร้อมความอับชื้นของหน้าฝน ร่วมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การรักษาความสะอาดส่วนบุคคล การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา
สังคัง โรคหน้าฝนที่มาพร้อมกลิ่น
ผศ. พญ.ปุณยพัศฐิช์ ศิริธนบดีกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน สาขาตจวิทยาโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า สังคัง (Tinea cruris) หรือการติดเชื้อรา มักพบที่ขาหนีบ และอาจจะลามมาที่อวัยวะเพศ พบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า
สังคัง เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นขุยแดงๆ โรคนี้ติดต่อได้ง่ายมาก จากการสัมผัส หรือการใช้สิ่งของ เช่น เสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัว ร่วมกัน พบได้ในกลุ่มคนที่มีเหงื่อมากๆ นักกีฬา น้ำหนักตัวเกิน เบาหวาน คนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี
อาการที่เด่นชัดคือ มีผื่นแดง แสบและคันมาก อาจมีตุ่มใสๆ หรือเป็นผื่นแดงขอบนูนและมีขุยสีขาวๆ หรืออาจเป็นแผ่น พบตามขาหนีบ หัวเหน่า และรอยพับต่างๆ ถ้าเกาจะยิ่งลุกลามจนเกิด แผลถลอก และทำให้แสบได้ ในรายที่เป็นมากผื่นอาจลุกลามไปยังบริเวณก้นและอวัยวะเพศได้
การรักษาสังคัง ใช้ยาฆ่าเชื้อราโดยตรง ถ้าเป็นซ้ำบ่อยๆ ต้องรับประทานยา ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
การป้องกันสังคัง
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นเกินไป ใช้ผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
- หลังอาบน้ำ ควรเช็ดตัวให้แห้งเสมอ ไม่ให้อับชื้น
- ถ้าสาเหตุของความอับชื้นมาจากความอ้วน ควรลดน้ำหนัก เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ
กลิ่นในจุดซ่อนเร้น กลิ่นลับที่ต้องระวัง
กลิ่นในจุดซ่อนเร้น พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สาเหตุมาจากการดูแลความสะอาดไม่ดีพอ ความอับชื้น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการติดเชื้อ ส่วนใหญ่แล้วกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์บริเวณจุดซ่อนเร้น มักทำให้เกิดปัญหา และสร้างความกังวลในผู้หญิง จากการที่พบความผิดปกติของช่องคลอดร่วมด้วย
กลิ่นจากช่องคลอดเกิดจากอะไรได้บ้าง
1. การติดเชื้อ
- การติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการตกขาวมีกลิ่นคาว รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
- การติดเชื้อที่เกิดจากโปรโตซัว trichomoniasis ตกขาวจะมีกลิ่นคาว มีสีเหลืองหรือสีเขียว เป็นฟอง
- การติดเชื้อรา ทำให้เกิดกลิ่นเหมือนยีสต์ ตกขาวสีขาว เป็นลิ่มๆ รวมทั้งมีอาการคัน แสบในระหว่างการถ่ายปัสสาวะและการมีเพศสัมพันธ์ เกิดจากการที่เชื้อราซึ่งปกติจะมีอยู่ในช่องคลอด เจริญเติบโตผิดปกติ มักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
สารคัดหลั่งในช่องคลอดในระหว่างมีประจำเดือนและระหว่างการตกไข่ อาจก่อให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าในช่วงอื่นๆ อีกสาเหตุคือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลงทำให้เนื้อเยื่อช่องคลอดบางและช่องคลอดจะมีสภาวะเป็นกรดเล็กน้อย ผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนจะสังเกตว่าช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นและตกขาวเป็นน้ำ หากกลิ่นทำให้รู้สึกกังวลใจแพทย์อาจสั่งยาเอสโตรเจนเฉพาะที่ซึ่งจะช่วยกำจัดกลิ่นภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากครีมบำรุงช่องคลอดเอสโตรเจนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
3. เหงื่อ
ขาหนีบที่มีเหงื่อออกจะมีกลิ่นเหม็น เนื่องมาจากต่อมเหงื่อ Apocrine (พบได้ในรักแร้ หัวนม ช่องหู เปลือกตา ปีกจมูก) ผลิตของเหลวที่เป็นน้ำมันออกมา และถูกย่อยโดยแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังทำให้เกิดกลิ่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่แน่น หรือในผู้ที่น้ำหนักตัวมาก ผิวหนังจะพับซ้อนกัน จะทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น
4. อาหารที่รับประทาน
การวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีกลิ่นรุนแรง เช่น พริก พริกไทย กระเทียม หัวหอม ปลา และบร็อคโคลี่ จะส่งผลต่อกลิ่นในช่องคลอดเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น รักแร้ หนังศีรษะ ปาก และเท้า
5. ผ้าอนามัยแบบสอดที่ถูกลืม
การสะสมของเลือดประจำเดือน จะทำให้เกิดแบคทีเรีย และเกิดการระคายเคือง คัน และยังทำให้เกิดกลิ่นที่ ไม่พึงประสงค์ได้
การดูแลไม่ให้เกิดกลิ่นในช่องคลอด
- สวมเสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไปและชุดชั้นในผ้าฝ้ายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ และป้องกันไม่ให้ความชื้นสะสม
- เปลี่ยนเสื้อผ้าหลังจากออกกำลังกาย
- ลดน้ำหนัก กรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก
- ในช่องคลอดจะมีกระบวนการทำความสะอาดตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้แบคทีเรียที่ดี ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อตายได้
- หลีกเลี่ยงการฉีดน้ำหอม หรือสเปรย์ บริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออาจเกิดอาการแพ้ได้
หากกลิ่นทางช่องคลอดนั้นรุนแรงมากหรือมีอาการผิดปกติ เจ็บ ปวดแสบปวดร้อน หรือมีอาการคัน ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาที่ถูกต้อง
เท้าเหม็น กลิ่นลับๆ ที่มากับหน้าฝน
เท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เกิดจากการที่เรามีเหงื่อออกที่เท้าเยอะ (Hyperhidrosis) หรือความอับชื้น ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้ปกติบนผิวหนังของคนเราในปริมาณที่พอเหมาะ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอับชื้น แบคทีเรียนี้นอกจากจะย่อยสลายผิวหนังชั้นนอกแล้ว ยังสร้างสาร sulfur compound ทำให้เกิดกลิ่นขึ้นมา
ลักษณะที่พบคือ จะเห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า บางครั้งเห็นเป็นวงๆ เป็นแอ่งตื้นๆ ที่ฝ่าเท้า โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก แต่มักไม่มีอาการคัน ซึ่งจะแตกต่างจากเชื้อราหรือน้ำกัดเท้า
ปัจจัยที่ทำให้เท้าเหม็น
- สภาพอากาศที่ร้อน ชื้น
- รองเท้าที่อับ ไม่มีที่ระบายอากาศ เช่น รองเท้าบูท
- ภาวะเหงื่อออกมากเกินไปของมือและเท้า (hyperhidrosis)
- ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา (keratoderma)
- โรคเบาหวาน
- อายุที่มากขึ้น
- ภาวะบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
- การรับประทานอาหาร ที่มีปริมาณน้ำมันสูง อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีกลิ่นแรง คาเฟอีน ทำให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น สามารถทำให้เกิดกลิ่นได้
- ยาบางชนิดเช่น naproxen, acyclovir
- การขาดธาตุ zinc และภาวะความเครียด ก็ส่งผลให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น และทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้
วิธีการรักษาควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย แยกโรคจากเชื้อรา และให้ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Erythromycin gel, Clindamycin gel, Mupirocin ทายาในกลุ่ม Benzyl peroxide สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างผิวใหม่ และฆ่าเชื้อได้ และอาจพิจารณาให้ยาลดเหงื่อร่วมด้วย
การป้องกันโรคเท้าเหม็น
- เลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี หรือถ้าจำเป็นต้องสวมรองเท้าหุ้มข้อ เช่น รองเท้าบูท ให้เลือกสวมรองเท้าบูทที่สั้นที่สุด รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี หรือถุงเท้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น polyester หรือ nylon จะทำให้มีเหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น
- ใช้ถุงเท้าทำจากผ้าที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย หรือผ้าขนสัตว์
- สวมรองเท้าแตะเปิดนิ้วเท้าทุกครั้งที่ทำได้
- รักษาความสะอาดของเท้า ล้างเท้าด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดวันละสองครั้ง
- ทาครีมบำรุงเท้าอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง
- อย่าสวมรองเท้าคู่เดียวกัน ติดกันสองวัน ควรทิ้งไว้ให้แห้งจากความชื้นก่อน
- อย่าใช้รองเท้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และรับประทานอาหารที่มี Zinc เป็นส่วนประกอบ เช่น หอยนางรม ไก่ ไข่ นม จมูกข้าว และธัญพืช เป็นต้น
หน้าฝนไม่ได้เป็นตัวการให้เกิดโรค แต่ความชื้นในอากาศ ร่วมกับปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในของเราเอง เช่น ฮอร์โมน หรือปัจจัยภายนอก เช่น การรับประทานอาหารบางประเภท ที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคที่เป็นบ่อเกิดของกลิ่นไม่พึงประสงค์ การดูแลตัวเอง รักษาความสะอาด และ ทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่ว่าฤดูไหน ก็ไม่สามารถทำให้เราป่วยได้