"โรคเรื้อน" ผิวหนังผิดปกติอย่างนิ่งนอนใจ ไม่รักษาถึงขั้นพิการได้

"โรคเรื้อน" ผิวหนังผิดปกติอย่างนิ่งนอนใจ ไม่รักษาถึงขั้นพิการได้

"โรคเรื้อน" ผิวหนังผิดปกติอย่างนิ่งนอนใจ ไม่รักษาถึงขั้นพิการได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคผิวหนังที่เราพอจะเคยคุ้นหู ก็มีตั้งแต่กลากเกลื้อน ไปจนถึงหิด หูด ที่ขึ้นเป็นเม็ดๆ คันๆ แต่สำหรับโรคเรื้อน เราคงจะเคยได้ยินว่าเป็นโรคผิวหนังของสัตว์มากกว่า เช่นสุนัขและแมวจรจัด ที่ผิวหนังแห้งๆ ขนร่วง เป็นต้น แท้ที่จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นโรคเรื้อนได้ค่ะ สาเหตุของโรคเรื้อนมาจากอะไร รักษาอย่างไร ป้องกันอย่างไร Sanook! Health เอาข้อมูลมาฝากค่ะ

โรคเรื้อน

โรคเรื้อนเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไมโครแบคทีเรียมเลพรี่ เป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการหายใจเอาละอองเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และเชื้อโรคยังสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านผิวหนังที่มีรอยแตก หรือมีบาดแผลได้อีกด้วย

อาการของโรคเรื้อน

1. ระยะแรก บางส่วนของอวัยวะต่างๆ ที่ติดเชื้ออาจไม่มีความรู้สึกเมื่อสัมผัสกับของร้อน ของเย็น และไม่มีความเจ็บปวด

2. พบความผิดปกติของผิวหนังที่ติดเชื้อ กระดำกระด่าง เป็นดวงๆ ไม่มีขนขึ้น ไม่มีเหงื่ออก แต่ไม่มีอาการคัน

3. อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ เลือดกำเดาไหล

4. หากอาการหนักมาก เชื้อโรคอาจทำลายผิวหนังส่วนนั้นไปเรื่อยๆ จนเป็นก้อนหนาบวม แผลแตก ทำลายเนื้อเยื่อภายใน เช่น หากเป็นใกล้ดวงตาก็จะทำลายนัยน์ตา เป็นแผลทะลุระหว่างแก้มและปาก ฟันร่วง ประสาทสัมผัสแย่ลงจนลิ้มรสชาติ และดมกลิ่นไม่ได้ หรือหากเป็นบริเวณแขนขาก็อาจจะเนื้อเยื่อหลุดจนเห็นกระดูกได้

5. เส้นประสาทอาจถูกทำลาย จนทำให้กลายเป็นผู้พิการ เช่น เป็นอัมพาต เท้าพิการ กล้ามเนื้อเสื่อม หดเล็กลงจนไม่สามารถขยับอวัยวะส่วนนั้นได้ แม้แต่กระดูกก็อาจจะสึกกร่อนได้เช่นกัน

วิธีการรักษาจากโรคเรื้อน

พบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อโรค ทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสหายขาดได้ หากพบบาดแผลแพทย์จะขูดเนื้อเยื่อบริเวณแผลไปตรวจ และทำการรักษาแผลต่อไป

วิธีป้องกันตัวเองจากโรคเรื้อน

1. หากพบความผิดปกติที่ผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยด่วน

2. เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเรื้อนโดยเฉพาะ หากจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเรื้อน ให้เลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ และไม่หายใจ หรือไอจามรดใส่กัน หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน และไม่สัมผัสน้ำมูก น้ำเหลืองของผู้ป่วย

3. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะหากร่างกายมีภูมิต้านทานดี เชื้อโรคก็จะทำร้ายร่างกายเราไม่ได้

ถึงแม้จะฟังดูเป็นโรคติดต่อที่มีอาการร้ายแรง แต่ระยะเวลาในการจะติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั้นใช้เวลาค่อนข้างนานนับปี และกว่าอาการจะลุกลามไปถึงขั้นหนักก็ใช้เวลาอีกมากพอสมควร ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติเบื้องต้น และรักการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะหลีกเลี่ยงอาการรุนแรงต่างๆ รวมถึงอวัยวะพิการได้แน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข, healthmeplease.com

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "โรคเรื้อน" ผิวหนังผิดปกติอย่างนิ่งนอนใจ ไม่รักษาถึงขั้นพิการได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook