"อาหารติดคอ" ช่วยเหลืออย่างไร?
อ.พญ.กษมณฑ์ อร่ามวาณิชย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การมีความรู้ในเรื่องของการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการติดคอเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วไปทุกคนควรรู้ เพราะหากอาหารติดคอแบบอุดกั้นสนิท เพียงเวลาไม่กี่นาที อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้
อาหารติดคอแบบอุดกั้นสนิท VS ไม่สนิท
วิธีสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการอาหารอุดกั้นแบบสนิท หรือไม่สนิท
อาหารติดคอแบบอุดกั้นสนิท ผู้ป่วยจะไม่มีเสียงพูด (พูดไม่มีเสียง) หรือเสียงร้องเพื่อขอความช่วยเหลือ และอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที ผู้ป่วยจะเริ่มมีลักษณะเหมือนขาดอากาศหายใจ จนอาจเริ่มหน้าเขียวได้
อาหารติดคอแบบอุดกั้นไม่สนิท ผู้ป่วยจะยังมีเสียงพูดอยู่ โดยหลอดลมจะยังไม่ถูกปิดกั้นสนิท
อาหารติดคอเด็กเล็ก อาจสังเกตได้จากอาการเหนื่อย หายใจไม่ออก และใบหน้าหรือลำตัวเริ่มมีอาการเขียว
วิธีช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลผู้ป่วยอาหารติดคอแบบอุดกั้นสนิท
เมื่อมีอาหารอุดกั้นหลอดลมแบบสนิท จะทำให้ร่างกายไม่มีอากาศหรือออกซิเจนไหลผ่านเข้าออกตามปกติได้ อาจทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาทีได้ โดยงานวิจัยพบว่า สมองของเราสามารถทนต่ออาการขาดอากาศได้นานราวๆ 4 นาทีเท่านั้น มิฉะนั้นเซลล์สมองอาจจะตาย ส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้
วิธีช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลผู้ป่วยอาหารติดคอ มีขั้นตอนดังนี้
- โทรขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 ก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะเป็นเราเอง หรือให้คนอื่นช่วยโทรให้ก็ได้ เพราะมีความเสี่ยงว่าที่เรากำลังจะปฐมพยาบาลต่อไปนี้ อาจจะได้ผล หรือไม่ได้ผล หากไม่ได้ผลจนผู้ป่วยหมดสติ จะได้มีทีมช่วยเหลือเข้าไปช่วยได้ทัน หรือถึงต่อให้อาหารออกมาได้ ก็ต้องมีการรักษาต่อไปอยู่ดี
- 2.1 สำหรับเด็กเล็ก ให้นำเด็กนอนคว่ำหน้าไว้บนขา
2.2 ให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว ตบบริเวณสะบักแรงๆ ด้วยส้นมือ 5 ครั้งด้วยความเร็วและแรง
2.3 พลิกตัวเด็กให้นอนหงายขึ้น ใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงกึ่งกลางบริเวณหน้าอกแรงๆ 5 ครั้ง
2.3 ทำทั้ง 2 อย่างสลับไปมาเรื่อยๆ จนกว่าเศษอาหารจะหลุดออกมา หรือจนกว่าเด็กจะหมดสติ จะเปลี่ยนเป็นวิธีทำ CPR แทน
เคล็ดลับคือ ต้องทำด้วยความเร็ว และแรง มิฉะนั้นแรงดันในช่องอกจะไม่มากพอให้เศษอาหารหลุดออกมาได้ ห้ามจับขาเด็กยกสูง ให้เด็กห้อยหัวลงแล้วเขย่าตัวเด็กเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อาหารออกมาได้แล้ว ยังอาจเสี่ยงทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและคอ หรือเสี่ยงเลือดออกในสมองได้อีกด้วย - 3.1 สำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่ ให้เข้าช่วยเหลือทางด้านหลัง
3.2 โอบรอบตัวผู้ป่วยบริเวณใต้รักแร้มาทางหน้าท้อง
3.3 กำมือข้างหนึ่งของเรา โดยกำเอานิ้วโป้งเก็บเอาไว้ หันด้านนิ้วโป้งเข้าบริเวณลิ้นปี่
3.4 ใช้มืออีกข้างหนึ่งช้อนท้ายด้านนิ้วก้อย
3.5 ผู้เข้าช่วยออกแรงกระทุ้งเข้าหาตัวเองในแนวเฉียงด้วยความเร็วและแรง
3.6 ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมาจากปากของผู้ป่วย หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดมีเสียงออกมาได้ หรือทำจนกว่าผู้ป่วยจะหมดสติ และต้องเปลี่ยนไปทำ CPR แทน
ไม่ควรใช้วิธีเอามือทุบหลัง เพราะไม่ได้ช่วยให้อาหารหลุดออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่ต่างกันกับเด็ก
ทั้งหมดควรทำด้วยความเร็ว และใช้แรงมากพอ ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากแรงที่ใช้ เพราะหากใช้แรงไม่มากพอ โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากอาหารติดคอมีมากกว่า