“กาฬโรค” สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน
“กาฬโรค” เป็นโรคติดต่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล จนหลายคนคิดว่าโรคนี้หายไปจากโลกแล้ว อันที่จริงโรคกาฬโรคยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ด้วยเทคโนโลยีการรักษาโรค รวมถึงความรู้ความเข้าใจ และระบบสาธารณูปโภคของเราอาจจะดีกว่าสมัยก่อน จึงทำให้โรคระบาดบางโรค รวมถึงกาฬโรค มีอุบัติการณ์ของโรคต่ำกว่าในอดีตมาก
อย่างไรก็ตาม นานๆ ครั้งเราอาจจะเห็นจากข่าวที่ในกาฬโรคระบาด หรือพบผู้ป่วยกาฬโรคทั้งในและนอกประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆ เราจึงยังคงต้องทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้เอาไว้บ้าง ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันกาฬโรค
สาเหตุของกาฬโรค
กาฬโรค เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีแหล่งรังโรคคือสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Yersinia pestis และมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค
ผู้ป่วยอาจถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ถูกกัด ส่วนใหญ่จะพบการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาวและในบริเวณที่มีกลุ่มประชากรอยู่กันอย่างแออัด การดูแลเรื่องความสะอาด และควบคุมการแพร่พันธุ์ของหนูจะสามารถทำให้มีโรคระบาดน้อยลง
การติดต่อของกาฬโรค
- หมัดหนูมากัดคนแล้วปล่อยเชื้อกาฬโรคเข้าทางบาดแผล หรือทางผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด
- ติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อของผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือจากสัตว์ที่มีเชื้อโรค เช่น แมว และหายใจเอาเชื้อเข้าไปทางปาก/จมูก
- ถ้าติดเชื้อทางระบบหายใจจะทำให้เกิดโรคกาฬโรคปอดบวม แต่การเกิดกาฬโรคปอดบวมเริ่มจากการถูกหมัดหนูกัดและเชื้อเข้าไปเจริญเติบโตภายในปอดการติดจากคนสู่คนโดยการหายใจ เกิดจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดบวม
อาการของกาฬโรค
หลังจากถูกหมัดที่มีเชื้อหนูกัด ราว 2-8 วัน เชื้อจะเริ่มเคลื่อนไปเจริญเติบโตที่ต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด จนทำให้แสดงอาการ ดังนี้
- มีไข้สูง
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากนี้ยังแบ่งอาการตามชนิดของกาฬโรคที่เป็นได้อีกด้วย
- กาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีระยะฟักตัวของโรคราว 2-6 วัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม แดง กดเจ็บ ปวดบวมจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ มักเป็นที่บริเวณขาหนีบ หรือรักแร้
- กาฬโรคชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามต่อมาจากกาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ จะพบอาการดังนี้
- มีไข้สูง
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- กระสับกระส่าย
- เพ้อ
- ช็อก หมดสติ
- เลือดออกในอวัยวะต่างๆ
- อาจเสียชีวิตได้ภายใน 3-5 วัน หรืออาจจะภายในไม่กี่ชั่วโมง - กาฬโรคชนิดโรคปอดบวม มีระยะฟักตัวของโรคราว 2-4 วัน อาจเกิดขึ้นหลังจากมีอาการของกาฬโรคใน 2 ชนิดแรก ติดเชื้อจากผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากคนอื่นในลักษณะนี้จะมีอาการดังนี้
- ปวดบวม
- ไอเป็นน้ำ
- เสมหะไม่เหนียว
- เสมหะอาจมีเลือดปน
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- หากมีอาการหนัก และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตภายใน 1-3 วัน
การรักษากาฬโรค
หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นกาฬโรคแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแยกตัวจากผู้ป่วยท่านอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค จากนั้นจึงรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย เช่น สเตรปโตมัยซิน (streptomysin) คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) เตตร้าไซคลิน (tetracycline) ยาซัลฟาไดอาชิน (sunfadiacin) ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา
การป้องกันกาฬโรค
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้ ดังนี้
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย กำจัดขยะเป็นประจำ ถังขยะมีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่ของหนู
- หากมีสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือรอบบ้าน ควรกำจัดหมัดเป็นระยะๆ และระมัดระวังไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์จรจัด รวมถึงสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย และไม่สัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยหรือตาย ้ถ้าจำเป็นควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันเชื้อโรค