"งดแป้ง-อัดโปรตีน" ความเชื่อผิดๆ ในการลดน้ำหนัก
หลายคนลดน้ำหนักด้วยวิธีงดข้าว แล้วกินเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว อาจมีเสริมเวย์โปรตีนเพิ่มด้วย แต่ระวังเสี่ยงภาวะ “โปรตีนรั่วในปัสสาวะ” และอาจเสี่ยงโรคไตเรื้อรังได้
สูตรลดน้ำหนักของหลายๆ คน มักเริ่มจากการงดแป้ง และรับประทานโปรตีนเพิ่มเพื่อให้อยู่ท้อง และเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมด้วย แม้ว่าวิธีนี้ฟังดูจะถูกต้อง และไม่น่าก่อให้เกิดอันตรายใดๆ กับร่างกาย แต่ในบางคนที่ใช้วิธีสุดโต่งมากเกินไป รวมถึงเข้าคอร์สลดน้ำหนักจากผู้ที่ไม่ใช่นักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการที่แท้จริง อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
ภาวะโปรตีนมากเกินไป
การรับประทานโปรตีนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย อาจมาจากการรับประทานเนื้อสัตว์ นม เวย์โปรตีน และอาหารอื่นๆ เสี่ยงภาวะโปรตีนมากเกินไป ส่งผลให้ตับและไตต้องทำงานหนักเพื่อขับเอาโปรตีนส่วนเกินออกจากร่างกาย อาจเสี่ยงภาวะเลือดเป็นกรด ตับและไตเสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม แล้วจะเริ่มขับโปรตีนส่วนเกินออกจากร่างกายไม่ทัน โปรตีนอาจถูกส่งกลับไปที่ลำไส้ใหญ่ และถูกแบคทีเรียเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นแอมโมเนีย และถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะซึม ชัก หมดสติ สมองเสื่อม หรือตับ/ไตเสื่อม ตัว/ตาเหลือง หรือเป็นดีซ่านได้
นอกจากนี้ยังเสี่ยงภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ สัญญาณที่แสดงถึงโรคไตอักเสบ นำไปสู่ภาวะไตวายในอนาคตได้อีกด้วย
ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมต่อร่างกาย
หากอยากควบคุมอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก ยังควรต้องจำกัดอาหารที่กินให้ได้ 5 หมู่ต่อ 1 มื้อ ไม่กินแต่สารอาหารใดสารอาหารหนึ่งมากเกินไป แบ่งสัดส่วนของอาหารหนึ่งจานให้มีโปรตีน 30% คาร์โบไฮเดรต 20% เกลือแร่ 20% วิตามิน 20% และไขมัน (ดี) 10% คิดง่ายๆ คือเน้นโปรตีนไขมันน้อยมากที่สุด แต่ก็ยังต้องกินควบคู่ไปกับอาหารอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนด้วย
ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว เฟซบุ๊กเพจ เมื่อวานนี้ทานอะไร? แนะนำการคำนวณได้คร่าวๆ ให้กินโปรตีน 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัวเรา (กิโลกรัม) ต่อวัน เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ไม่ควรกินโปรตีนเกิน 120 กรัมต่อวัน (ุ60x2) เป็นต้น
วิธีกินเวย์โปรตีนเสริมกล้ามให้ปลอดภัย
สำหรับคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงท่านไหนที่ออกกำลังกายหนักเพราะอยากเสริมสร้างกล้ามเนื้อ อยากได้กล้ามเนื้อสวยๆ สามารถรับประทานเวย์โปรตีนเสริมได้ แต่ควรรับประทานก่อนออกกำลังกาย และรับประทานในสัดส่วนที่ระบุเอาไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด อย่ากำหนดสัดส่วนเอาเอง และรักษาสมดุลในการทานโปรตีนในแต่ละวันให้ดี อย่ารับประทานแต่เวย์โปรตีน อกไก่ หรือไข่ขาวจนทานอาหารประเภทอื่นไม่เพียงพอ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ นักโภชนาการ หรือนักกำหนดอาหารมืออาชีพจะดีที่สุด
แม้จะลดน้ำหนัก ก็ต้องกินคาร์โบไฮเดรต
ไม่ใช่ว่าอยากลดน้ำหนักแล้วจะหักดิบไม่กินคาร์โบไฮเดรตเลยแม้แต่น้อย (นอกเสียจากว่าคุณจะลดน้ำหนักด้วยวิธีการกินแบบคีโตเจนิก) แต่ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นั่นคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) เมล็ดพืช ธัญพืช เผือก มัน ฯลฯ) และหลีกเลี่ยง หรือลดคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (พวกแป้งขัดขาว ข้าวขาว ขนมปังขาว น้ำตาล หรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผ่านการแปรรูป) ให้ได้มากที่สุด