รู้ทัน "มะเร็งไทรอยด์" อาการ และวิธีรักษา
ไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้น และเห็นเป็นก้อนบางครั้งก็เห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ บางครั้งก็โตเป็นลักษณะหลายๆ ก้อนติดกัน และที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงขณะเรากลืนน้ำลาย ก้อนของไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อย และมีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากการตรวจพบโดยบังเอิญในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆ บริเวณคอและช่องอก โดยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ มีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยใหม่ ที่เป็นมะเร็งไทรอยด์เพิ่มมากขึ้น
อาการของโรคมะเร็งไทรอยด์
นพ.ณัฐนนท์ มณีเสถียร อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยมักมาด้วยอาการคลำพบก้อนที่ลำคอ ตำแหน่งของไทรอยด์จะอยู่หน้าต่อกระดูกคอหอย ซึ่งโดยปกติจะแบนและคลำไทรอยด์ไม่ได้เมื่อใดก็ตามที่พบว่าบริเวณดังกล่าวมีก้อนหรือปุ่มปม ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ก้อนเหล่านี้มักโตช้ามากและไม่มีอาการจนผู้ป่วยอาจคิดว่าไม่เป็นไรและละเลย
มะเร็งไทรอยด์ถ้าเริ่มเป็นจะไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกจากคลำก้อนที่ไทรอยด์เจอ ดังนั้นเมื่อพบก้อนบริเวณด้านหน้าลำคอที่เคลื่อนขึ้นลงตามการกลืนน้ำลายควรพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม
กลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งไทรอยด์
มะเร็งไทรอยด์จะพบใน
- เพศชายมากกว่าเพศหญิง
- อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 70 ปี
- มีประวัติก้อนโตเร็ว
- มีประวัติเคยฉายแสงที่คอมาก่อน
- มีประวัติเป็นมะเร็งไทรอยด์ในครอบครัว
การตรวจหามะเร็งไทรอยด์
การตรวจร่างกายจะคลำพบก้อนแข็ง ขอบเขตก้อนขรุขระไม่ชัดหรือมีอาการแสดงการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น เสียงแหบ หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก หลังจากนั้นแพทย์ส่งตรวจเลือดไทรอยด์ฮอร์โมนและตรวจ Ultrasound Thyroid ซึ่งแพทย์จะส่งตรวจ ultrasound เพื่อดูลักษณะก้อนว่าเข้าได้กับก้อนเนื้องอกไทรอยด์จริงหรือไม่ มีจำนวนกี่ก้อน จาก ultrasound สามารถวินิจฉัยมะเร็งไทรอยด์ได้ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนและแม่นยำแพทย์จะทำการตรวจโดยใช้เข็มขนาดเล็ก เจาะเอาเนื้อจากไทรอยด์มาตรวจ (Fine Needle Aspiration) ซึ่งง่ายต่อการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำประมาณ 90% ซึ่งหลังจากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ควรได้รับการผ่าตัด เนื่องจากมะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่เติบโตช้าการพยากรณ์โรคจะดี ถ้าได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกมักจะหายจากโรคได้
การรักษามะเร็งไทรอยด์
นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ ศัลยแพทย์ด้านศีรษะ และลำคอ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยอาจพิจารณา ให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยรังสีไอโอดีนหลังผ่าตัดในบางกรณี สำหรับการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด ไม่มีที่ใช้ในการรักษามะเร็งไทรอยด์ชนิดที่พบบ่อย
การผ่าตัดมะเร็งไทรอยด์ ประกอบด้วยการตัดไทรอยด์ออกทั้งหมด และอาจมีการจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ตรวจพบว่าอาจจะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย โดยในปัจจุบันแพทย์จะเก็บรักษาต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งติดอยู่ทางด้านหลังของไทรอยด์เพื่อป้องกันภาวะแคลเซี่ยมต่ำในกระแสเลือดหลังผ่าตัด และเก็บรักษาเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง เพื่อป้องกันภาวะเสียงแหบหลังผ่าตัดให้กับผู้ป่วยทุกราย
ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยรวม เพื่อลดความเสี่ยงในการดมยาสลบก่อนผ่าตัด การผ่าตัดมะเร็งไทรอยด์ใช้เวลาประมาณ 2 ชม.หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ตามปกติ และจะต้องรับการรักษาแบบผู้ป่วยในประมาณ 3-5 วัน เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ผู้ป่วยจึงจะได้รับอนุญาตให้ออกจาก รพ.และกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ไทรอยด์ที่ถูกตัดออกไปจะถูกนำส่งให้พยาธิแพทย์ ทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างละเอียด หากพบว่า มีลักษณะของการกระจาย หรือมีแนวโน้มว่าจะมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รับการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนเพิ่มเติม ซึ่งมักเริ่มให้การรักษาด้วยวิธีนี้ หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดไปแล้ว 4 สัปดาห์ ในการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาตัวใน รพ. ประมาณ 2-4 วัน และจะได้รับการอนุญาตให้ออกจาก รพ.เมื่อระดับรังสีที่ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่รังสีไปให้กับคนใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น
การรักษามะเร็งไทรอยด์ ชนิดที่เป็นบ่อยได้ผลดี หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อย่างครบถ้วนสมบูณ์โอกาสโรคแทรกซ้อนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หากรับการรักษาใน รพ.ที่ได้มาตรฐาน และศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ อัตราเกิดซ้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถกลับไปมีคุณภาพชีวิตได้เหมือนปกติ