สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าว หรือคำถามที่ว่า คุณถนัดใช้สมองซีกซ้าย หรือสมองซีกขวามากกว่ากัน หรือเคยได้ยินว่า คนถนัดใช้สมองซีกซ้ายจะเก่งเรื่องตัวเลขและชอบใช้เหตุผลเป็นหลัก ส่วนคนถนัดใช้สมองซีกขวาจะเก่งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และชอบใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่ว่า คำกล่าวเกี่ยวกับ สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา เหล่านี้จะใช่เรื่องจริงไหม จริงๆ แล้วสมองของเราทำงานอย่างไร

สมองของคนเราทำงานอย่างไร

สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน แม้จะมีน้ำหนักแค่ประมาณ 1.3 กิโลกรัม แต่ก็ประกอบด้วยเซลล์ประสาทกว่าแสนล้านเซลล์ และมีส่วนเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทถึงร้อยล้านล้านส่วน สมองของเราแบ่งออกเป็นสองซีก 2 ซีก ได้แก่ สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวา โดยสมองแต่ละซีกก็ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกันออกไป

แม้สมองทั้งสองซีกจะดูคล้ายคลึงกัน แต่วิธีการประมวลข้อมูลของสมองทั้งสองซีกก็แตกต่างกันมาก แต่ถึงอย่างนั้น สมองสองซีกของเราก็ไม่ได้ทำงานแยกกันโดยสิ้นเชิงแบบที่ใครหลายคนเข้าใจ โดยปกติแล้ว สมองแต่ละส่วนจะเชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยประสาท (nerve fibers) หากสมองได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อของสมองแต่ละส่วนหรือแต่ละซีก ร่างกายของคุณก็จะยังสามารถทำงานต่อไปได้ แต่การสอดประสานกันก็อาจจะไม่ดีเท่าปกติ หรือทำให้ร่างกายทำงานบกพร่องไปบ้าง

ทฤษฎีว่าด้วยเรื่อง สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา

มีทฤษฎีที่ว่าสมองแต่ละซีก ทั้งสมองซีกซ้าย และสมองซีกขวานั้นควบคุมความคิดคนละด้านกัน และคนเราแต่ละคนก็มักจะถนัดใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งมากกว่าสมองอีกซีก เช่น คนถนัดใช้สมองซีกซ้ายมักจะเก่งเรื่องการคิดวิเคราะห์ การคิดคำนวณ การใช้เหตุผล และมองอะไรตามพื้นฐานของความเป็นจริง ตรงข้ามกับคนถนัดใช้สมองซีกขวา ที่จะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการมากกว่า เก่งเรื่องศิลปะ ชอบแสดงอารมณ์ ชอบทำอะไรตามสัญชาตญาณ หรือทำอะไรตามความรู้สึก

หากว่ากันในทางจิตวิทยา ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากกระบวนการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวาที่แตกต่างกัน คือ สมองของเราแบ่งออกเป็นสองซีก ได้แก่ สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวา โดยสมองทั้งสองซีกมีหน้าที่แตกต่างกันไป และสื่อสารหรือเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายของใยประสาทที่เรียกว่า “คอร์ปัส แคลโลซัม” (Corpus Callosum) ซึ่งทำหน้าที่คอยประสานให้สมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันได้โดยไม่ติดขัด

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าสมองของคุณจะใช้ความคิดในแง่ของตรรกะหรือในแง่ความคิดสร้างสรรค์ สมองทั้งสองซีกก็จะต้องส่งข้อมูลถึงกันตลอด ไม่สามารถทำงานแค่ซีกเดียวได้ เช่น หากคุณต้องคิดค่าอาหารที่กินเข้าไป สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่คำนวณสมการทางคณิตศาสตร์ ส่วนสมองซีกขวาก็จะช่วยเปรียบเทียบข้อมูลและประมาณค่าคร่าว ๆ

วิธีลับสมอง ให้เฉียบคมอยู่เสมอ

สมาคมโรคอัลไซเมอร์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า การลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ อาจช่วยเพิ่มพลังให้สมอง และกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองใหม่ได้ ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ได้ด้วย

  • หาเวลาอ่านหนังสือ หรือเขียนไดอารีบ้าง
  • อย่าหยุดเรียนรู้ คุณควรเข้ารับการฝึกอบรม หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ
  • เล่นเกมลับสมองและช่วยพัฒนาความจำ เช่น คอร์สเวิร์ด ซูโดกุ ต่อจิ๊กซอว์ บอร์ดเกม เกมทดสอบความจำ วิดีโอเกม เกมไพ่
  • หางานอดิเรกใหม่ๆ ที่ต้องใช้สมาธิ หรือทักษะการเรียนรู้ เช่น การเล่นดนตรี การวาดรูป ศึกษาไอเดียใหม่ๆ จากผู้อื่นเสมอ
  • เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พยายามอย่าเครียด และหัวเราะให้เยอะๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook