คนรุ่นใหม่ระวังภัย "ข้อนิ้วล็อก-ข้อเข่าเสื่อม"
แนะคนวัยหนุ่มสาวเตรียม พร้อมในการดูแลข้อเข่า-ข้อนิ้วเสื่อม เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปไม่ว่าการใช้งาน คอมพิวเตอร์ ติดสมาร์ทโฟน ติดเกม ซึ่งจะมีผลต่อไปในระยะยาว ควรดูแลก่อนสายเกินแก้
ข้อนิ้วล็อก-ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาของคนรุ่นใหม่
ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุลผู้อำนวยการกองสมุนไพร เพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัญหา "ข้อเข่าเสื่อม" ปัญหาที่คุกคามคนสูงวัย รวมทั้ง "ข้อนิ้วล็อก" ภัยร้ายที่กำลังคุกคามสังคมเจเนอเรชั่นนี้ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ทั้งการเสพติดสมาร์ทโฟน ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งการทำงานในโลกยุคไอที เหล่านี้ล้วนทำให้ข้อนิ้วและข้อมือต้องรับภาระหนัก นำมาซึ่งปัญหาปวดแขน ปวดข้อมือ ไปจนถึง นิ้วล็อก ส่งผลเสียในระยะยาวต่อเนื่องถึงอนาคต
กินยาแก้ปวดติดต่อกันในระยะยาว เสี่ยงตับ-ไตวาย
ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ นักวิชาการ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า รายงานการแพทย์ทั่วโลกแนะคนวัยหนุ่มสาวเตรียมพร้อมในการดูแลข้อเข่า-ข้อนิ้ว เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เอื้อต่อการเกิดข้อกระดูกเสื่อม ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยข้อเสื่อมมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทานยาลดปวดอักเสบ ซึ่งในระยะยาวเป็นสาเหตุของตับและไตวายได้
ยิ่งใครที่มีอาการข้อนิ้วล็อก และข้อเข่าเสื่อมแต่ไม่ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที หากขาดการเยียวยาดูแล จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนถึงขั้นข้อเสื่อมในที่สุด
ผลกระทบจากการรักษายังมีอยู่มาก
วิธีรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม อาจมีการฉีดยาเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าจำเป็นต้องฉีดประจำและมีผลเสียตามมาภายหลัง รวมถึงวิธีผ่าตัด ที่มีมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อหลังการผ่าตัด รวมถึงมีข้อปฏิบัติดูแลภายหลังการผ่าตัดอีกมากอีกด้วย ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
วิธีป้องกันอาการข้อนิ้วล็อก
- ไม่ควรใช้งานข้อนิ้ว ข้อมือมากจนเกินไป ควรพักมือหลังจากการใช้งานหนักทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือพักมือถี่กว่านั้น
- หากเริ่มมีอาการปวดข้อนิ้วข้อมือ ควรงดการใช้งานหนักสักระยะ
- ผ่อนคลายมือด้วยการแช่มือในน้ำอุ่น พร้อมบริหารนิ้วมือเบาๆ เช่น กำและแบมือเบาๆ นวดนิ้วไปมา แต่ไม่ควรกำมือแน่น เพราะเป็นการเพิ่มการใช้งานของเส้นเอ็นมากเกินไป
- หากมีอาการปวดข้อนิ้วมาก ควรปรึกษาแพทย์
วิธีป้องกันอาการข้อเข่าเสื่อม
- หลีกเลี่ยงการออกท่าทางที่ต้องทำให้งอเข่ามากกว่า 90 องศาเป็นเวลานานๆ เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เพราะเป็นท่าทางที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้
- ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะการยกของหนักจะไปเพิ่มแรงกระทำต่อบริเวณข้อเข่า รวมถึงการออกกำลังกายหนักๆ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล ที่มีแรงกระแทกค่อนข้างมาก
- ออกกายบริหารบริเวณเข่าเบาๆ ทุกวัน ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
- หากมีอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ ควรเลือกใช้ยากลุ่ม Qlucosamine จะมีประโยชน์และชะลอการเสื่อมของข้อได้ในระยะยาว และยากลุ่มนี้ก็ไม่มีผลเสียและไม่มีอันตรายต่อร่างกาย