เข้าใจใหม่ "กระดูกพรุน" กินแคลเซียมรักษาไม่ได้
![เข้าใจใหม่ "กระดูกพรุน" กินแคลเซียมรักษาไม่ได้](http://s.isanook.com/he/0/ud/5/25483/bone.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
หลายคนทราบดีว่า “แคลเซียม” เป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่หากเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกอยู่แล้ว เช่น กระดูกพรุน โรคยอดฮิตของผู้สูงอายุ อาจจะเข้าใจผิดว่าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินอาหารที่มีแคลเซียม หรืออาหารเสริมแคลเซียม
"กระดูกพรุน" กินแคลเซียมรักษาไม่ได้
ผศ.(พิเศษ) นพ. ธนะเทพ ตั่นเผาพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า กระดูกพรุนเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย และการขาดฮอร์โมนเพศหญิง จึงไม่สามารถฟื้นมวลกระดูกให้สมบูรณ์ดังเดิมได้
อย่างไรก็ตาม เราสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกลงได้ โดยแพทย์แนะนำให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงร่วมกับวิตามิน และปรับระดับฮอร์โมนในกรณีที่เป็นหญิงวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุของกระดูกพรุน
- ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายสามารถสร้างความหนาแน่นให้กระดูกมากที่สุด
- ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาออร์ติโซน สำหรับโรคไขข้ออักเสบ, โรคหืด, ยาเฮปาริน สำหรับโรคหัวใจ และความดันโลหิต รวมถึงการรักษาโดยการฉายรังสี
- สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทำให้ความแข็งแรงของมวลกระดูกลดลง
- ฮอร์โมนลดลง โดยเฉพาะเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
- ขาดการออกกำลังกาย สูญเสียความแข็งแรงของกระดูกไปตามวัย
- ร่างกายขาดแคลเซียมเพราะขาดวิตามินดีที่ใช้ในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในร่างกาย
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้งที่มีแดดอ่อนๆ เช่น ช่วงเช้า หรือช่วงเย็น
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมพร่องไขมันเนย ปลากระป๋อง ปลาที่รับประทานพร้อมกระดูกได้ ผักผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
- หากมีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ควรรีบเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินเยียวยา