ทำ IF ผิดวิธี ลดน้ำหนักไม่ได้ แถมเสี่ยงโรค
Intermittent Fasting หรือ IF เป็นวิธีลดน้ำหนักที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการเริ่มต้นควบคุมอาหารอย่างง่ายๆ โดยการควบคุมแคลอรีและจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร โดยมีหลากหลายวิธีในการปฏิบัติ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือจำกัดเวลาทานอาหาร 8 ชั่วโมง และงดมื้ออาหาร 16 ชั่วโมง
ยกตัวอย่าง ทำ IF ง่ายๆ คือ เราสามารถ รับประทานอาหารได้เวลา 6.00-14.00 น. โดยหลังจาก 14.00 น. เป็นช่วงงดอาหาร ดื่มได้เพียงแต่น้ำเปล่า หรือกาแฟ ชา ที่ไม่ใส่น้ำตาล (งดเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในช่วงงดมื้ออาหาร เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากน้ำตาลได้)
- ลดน้ำหนักให้ได้ผลด้วย Intermittent Fasting (IF)
- ข้อดีของ IF หรือ “งดมื้ออาหาร” ที่มากกว่าแค่ “ลดน้ำหนัก”
แต่วิธี IF อาจทำให้หลายคนเจ็บป่วยจนต้องร้องหาหมอได้ หากทำไม่ถูกวิธี
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ หากทำ IF ไม่ถูกวิธี
- อดอาหารมากเกินไปจนเสี่ยงขาดสารอาหาร
- รับประทานอาหารมากเกินไป เพราะต้องรีบกินก่อนถึงช่วงเวลางดมื้ออาหาร
- เลือกเวลาในการกิน และงดการกินผิดเวลา อาจเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับลำไส้
- นอนดึก ในคนกลุ่มที่เข้านอนดึกมีความเสี่ยงในความอ้วนง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากระบบฮอร์โมนที่ซ่อมแซมร่างกาย และระบบความอิ่มในร่างกายจะรวนทำให้คนนอนดึกไม่สามารถงดมื้ออาหารได้ต้องกินอาหารหวาน และนำไปสู่ความอ้วน
- ไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากในการลดความอ้วนไม่ใช่แค่การควบคุมแคลอรี แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบการเผาผลาญที่ถาวรขึ้นด้วย ในส่วนนี้คือการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการโยโย่ขึ้นภายหลัง
- ยังติดหวาน หากทำ IF แล้วยังติดกินอาหารหรือขนมหวานๆ อยู่ อาจเสี่ยงติดหวาน ซึ่งเมื่อทำการงดมื้ออาหารจะทำให้เกิดอาการโหยน้ำตาล และอาจทำให้กินของหวานๆ มากกว่าเดิม
ประโยชน์ของ IF
การทำ IF มีประโยชน์ให้กับร่างกายในหลายๆ ด้านนอกจากการลดน้ำหนัก ดังนี้
- อนุมูลอิสระในร่างกายลดลง
- การอักเสบซ่อนเร้นในร่างกายลดลง
- ชะลอวัย อ่อนเยาว์ขึ้น เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ และการอักเสบในร่างกายลดลง
- ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีมากยิ่งขึ้น (ถ้าร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจเสี่ยงโรคเบาหวาน)
- ช่วยทำให้ยีนส์ที่ดีบางตัวแสดงออกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ทำให้เราฉลาดขึ้น ความจำดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
ทำ IF อย่างไรให้ถูกวิธี
- ตั้งระยะเวลาในการกิน และงดมื้ออาหาร ให้เป็นไปตามนาฬิกาชีวิต กล่าวคือ หากเลือกสูตรกิน 8 ชม. งดมื้ออาหาร 16 ชม. ไม่ควรเลือกช่วงเวลากินอาหารตอนดึกๆ ควรเลือกกินอาหาร 8 ชม. ในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตปกติ เช่น ตอนเช้า บ่าย เย็น
- ในช่วงที่กินอาหารได้ ควรกินอาหารให้เพียงพอ แต่เน้นอาหารคลีน โปรตีนสูง ไขมันต่ำ ผักผลไม้ต่างๆ ให้สารอาหารครบถ้วน รวมถึงคาร์โบไฮเดรตที่ยังต้องกินอยู่ แต่เลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต แทนคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว และลดของหวานต่างๆ
- ไม่ลดปริมาณอาหารลงจนมากเกินไปจนกลายเป็นการอดอาหารทั้งตอนที่กินอาหารได้ และช่วงที่ตั้งใจงดมื้ออาหาร
- ช่วงงดมื้ออาหาร ยังสามารถรับประทานอาหารที่ไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำมากๆ ได้ เช่น น้ำเปล่า หรือกาแฟดำ แต่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม วันละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง