วิธีเก็บยา-ทิ้งยา ที่ถูกต้อง ป้องกันยาเสื่อมสภาพก่อนเวลา
การจัดเก็บยา และ การกำจัดยา ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษากันเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากคุณมีการจัดระเบียบยาให้ถูกวิธี ยาเหล่านี้ก็อาจมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้นและไม่เสื่อมสภาพก่อนถึงกำหนดหมดอายุ ดังนั้น Hello คุณหมอ จึงมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธีจัดเก็บยา พร้อมกับ การกำจัดยา เบื้องต้นมาฝากให้ทุกคนได้ทราบกัน
สาเหตุที่อาจทำให้ยาของคุณเสื่อมสภาพ
ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยระดับต่ำ เช่น อาการปวดศีรษะ ยาลดไข้ หรือแม้แต่ยาจากใบสั่งยาที่จำหน่ายโดยทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาโรคประจำตัวระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง ก็ล้วนแต่จำเป็นที่ต้องมีการจัดเก็บยาอย่างถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ยาของคุณเกิดการเสื่อมสภาพด้วยปัจจัยต่างๆ ของสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ ดังต่อไปนี้
-
แสงแดด
ตัวยาหลายชนิดหากเมื่อโดนแสงแดดก็อาจทำให้ยาของคุณนั้นเกิดการเสื่อมสภาพได้ไวก่อนกำหนด และอาจออกฤทธิ์ในการรักษาไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่ควรแกะเม็ดยาออกมาจากบรรจุภัณฑ์อย่างเด็ดขาดหากคุณยังไม่ประสงค์จะรับประทาน เพราะเมื่อใดที่คุณทำการแกะยาออกมา ก็อาจทำให้ยามีโอกาสโดนแสงจนทำให้ยาเสื่อมสภาพร่วมด้วยได้
-
ความชื้น
ความชื้นรอบตัวคุณอาจสามารถทำให้ตัวยาเกิดการสลายตัว และส่งผลให้สารที่เคลือบอยู่บนยาเกิดการบวม จนเกาะกันเป็นก้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้ยาประจำตัวคุณนั้นอาจมีการเสื่อมสภาพ ทางที่ดีควรปิดฝาภาชนะที่บรรจุยาให้สนิททุกครั้งเพื่อป้องกันอากาศเข้าไปจำนวนมากในการสร้างความชื้น
-
อุณหภูมิ
ยาทุกประเภทมักจะมีการระบุไว้ข้างฉลากถึงวิธีการจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม บางชนิดอาจจำเป็นต้องแช่เย็น หรือบางประเภทอาจจำเป็นต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นคุณควรโปรดอ่านคำแนะนำอย่างละเอียด และโปรดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากไม่อยากให้ยาของคุณเสื่อมสภาพโดยไว
-
อากาศ
โปรดปิดฝาภาชนะให้สนิทเสมอหลังจากการรับประทานยาเสร็จสิ้น เพราะเนื่องจากในอากาศภายนอกรอบ ๆ ตัวเราประกอบด้วยก๊าซต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลเร่งยาของเรานั้นให้เสื่อมสภาพไวกว่าเดิมได้
วิธีจัดเก็บยาที่ถูกต้องเหมาะสม
การรักษาประสิทธิภาพของยาให้อยู่อย่างยาวนาน เพื่อนำมารับประทานในแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของเรา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราพึงกระทำ ซึ่งการจัดเก็บยาให้ถูกต้องนั้นไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอย่างที่คุณคิด และสามารถปฏิบัติตามได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- แยกประเภทของยาแต่ละชนิด เช่น ยาที่ใช้รับประทาน ยาสำหรับใช้ภายนอก ยาที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และยาที่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิที่พอดี เพื่อลดความเสี่ยงของการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ และป้องกันอันตรายจากการจัดเก็บยาร่วมกัน
- เก็บยาไว้ในภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์เดิม หากเป็นไปได้คุณควรใช้ภาชนะเดิมที่มากับตัวยาเป็นหลักในการจัดเก็บ และแบ่งแยกยาตามประเภท หรือจดแปะข้อมูลที่ระบุถึงอาการที่ควรทานยาชนิดนั้นไว้ทดแทนเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำแทน แต่หากในกรณีที่คุณมีความจำเป็นต้องนำยาออกจากบรรจุภัณฑ์เดิมเพื่อพกพา โปรดแบ่งออกมาทีละน้อยในปริมาณที่ควรกินประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์ และปิดฝาภาชนะนั้นให้แน่นสนิทพอที่จะไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาได้
- เก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ยาแต่ละชนิดอาจมีการจัดเก็บที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีการแบ่งการจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม ดังนี้
- ยาหยอดตา อินซูลินสำหรับฉีดในผู้ป่วยเบาหวาน ควรเก็บไว้ตู้เย็น หรืออุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส
- ยาที่มีลักษณะผิวภายนอกเป็นเจล และแคปซูล ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างแห้ง ไร้ความชื้น และความร้อนจากแสงแดด ประมาณ 8-15 องศาเซลเซียส
ที่สำคัญยาทุกประเภทควรเก็บไว้ให้พ้นจากเด็กเล็ก รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เมื่อมีการเผลอหยิบจับเข้าปาก และหากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บยาสามัญประจำบ้าน โปรดสอบถามอย่างละเอียดอีกครั้งได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คุณทำการรับยา และเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้านคุณที่มีใบรับรองได้เพิ่มเติม
การกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อความปลอดภัย
เมื่อคุณทำการตรวจสอบแล้วว่ายาสามัญประจำบ้านของคุณที่ได้รับจากแพทย์หมดอายุการใช้งานอย่างสิ้นเชิง จนต้องทำให้คุณตัดสินใจทำการกำจัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด และป้องกันมิให้บุคคลอื่นในบ้านมารับประทานต่อ แต่การทิ้งที่ถูกวิธีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอันตรายต่อบุคคลภายนอกก็ย่อมสำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางครั้งสารเคมีบางตัวอาจส่งผลเสียแก่ผู้ที่ได้รับการสัมผัสยาโดยตรงได้
ทางองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration ; FDA) จึงได้ออกมาให้ข้อแนะนำแก่ทุกคนให้ทราบไว้ ดังนี้
- ขูดฉลากบนขวนยาในกรณีที่มีชื่อคุณติดแปะอยู่
- นำยาที่หมดอายุใส่ภาชนะ หรือถุงซิปล็อคที่ปิดแน่นสนิท ป้องกันการรั่วไหลของยา
- จากนั้นนำทิ้งลงไปในถังขยะตามปกติ หรือทิ้งลงในถังขยะแยกที่ทำการระบุไว้ถึงประเภทของขยะ
เนื่องจากยาแต่ละประเภทอาจมีวิธีการกำจัดยาที่แตกต่างกันออกไป คุณอาจจำเป็นที่ต้องสอบถามรายละเอียดอีกครั้งจากแพทย์ในวันรับยา หรือวันที่คุณมีการซื้อยา โดยเฉพาะยาสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องพ่นยาในการรักษาอาการหอบหืด และยาที่มีส่วนประกอบของโอปิออยด์ เช่น แผ่นแปะผิวหนังบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง หรือยาเฟนทานิล (Fentanyl) เป็นต้น