10 เทคนิคช่วยให้ความจำของเราดีขึ้น
อาการขี้ลืมเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เลือกเพศและวัย บางคนทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในคราวเดียวกัน ทำให้ไม่มีสติ สมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ ก็อาจมีอาการหลงลืมชั่วคราวได้ เช่น ลืมนัด ลืมทานข้าว หรือบางคนอาจมีอาการหลงลืมมากกว่านั้น ก็คือลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเมื่อวาน รวมไปถึงชอบถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ระดับอาการขี้ลืมในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปด้วย แล้วถ้าไม่อยากกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมล่ะ จะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้ความจำดีและจำได้อย่างแม่นยำขึ้น
- จดบันทึกช่วยจำ
การจดบันทึกลงในสมุดที่มีวันที่กำกับ จะช่วยให้คุณแพลนเรื่องเล็กน้อยในชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ หรือสิ่งที่ต้องทำในเดือนถัดไป การจดเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล วันเกิดของคนสำคัญ แม้กระทั่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นเอง และการรักษา จะช่วยย้ำให้สมองจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น หรือถ้าจำไม่ได้ ก็ควรพกสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ติดตัวไว้ เผื่อไปเปิดดูยามที่นึกอะไรไม่ออก ถือว่าสามารถช่วยให้จำได้ดีขึ้นเลยทีเดียว
- ติดโน้ตเตือนความจำ
เวลาที่มีการนัดหมายหรือนึกขึ้นมาได้ว่าต้องทำอะไรในวันที่ยังมาไม่ถึง ให้เขียนสิ่งที่จะทำลงบนกระดาษโน้ต แปะไว้ในที่ๆ คุณต้องเห็นเป็นประจำ เช่น ประตูตู้เย็น บอร์ดช่วยจำที่ติดไว้ตรงทางเดินก่อนออกจากบ้าน หรือหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน ทุกครั้งที่เห็นโน้ตที่ติดไว้ จะเป็นการเตือนสมองให้จดจำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างแม่นยำ
- ใช้อักษรย่อ หรือคำคล้องจอง
ทริคในการใช้คำย่อหรือคำคล้องจอง ยังใช้ได้ดีในกรณีที่ถ้าต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในวันเดียว คือให้เอาเรื่องที่ต้องทำในวันนั้นๆ มาผูกเป็นเรื่องราว แล้วใช้ตัวย่อหรือคำเด่นคำเดียวเข้าช่วยก็ได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น วันนี้ต้องไปทำฟัน จ่ายค่าบัตรเดรดิต มีนัดทานอาหารตอนเย็น และปาร์ตี้ต่อ (ฟ-ค-ด-ต หรือ ฟัน/บัตร,เคร/ดิน,เดท/ตี้) เป็นต้น
- เก็บของให้เป็นที่
เก็บของให้เป็นที่และเก็บไว้ในที่ที่ควรจะอยู่ เช่น เก็บยาที่ต้องกินก่อนนอนไว้ที่โต๊ะข้างเตียงข้างขวดน้ำดื่ม หรือเก็บไว้บนหลังตู้เย็น เก็บกุญแจไว้บนโต๊ะตรงประตูทางออก เพื่อให้หาเจอได้ง่ายและจะได้ไม่หลงลืมว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน แถมยังช่วยให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลามานึกทุกครั้งที่จะใช้
- พูดย้ำเตือนกับตัวเอง พูดกับตัวเองดังๆ
การพูดก็เหมือนกับการจดบันทึก และดีที่สุดก็คือการพูดออกมาดังๆ แต่ไม่ใช่กับที่สาธารณะ ยามเช้าก่อนเริ่มออกจากบ้าน ให้นึกถึงสิ่งที่คุณต้องทำในวันนั้น แล้วพูดออกมาดังๆ ซ้ำๆ กันหลายหนในห้องน้ำ ถ้าคิดว่ายังจำไม่ได้และเป็นกังวล ลองใช้การอัดเสียงที่คุณพูดไว้ และนำไปเปิดฟังยามที่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำอะไร
- ทำอะไรให้ช้าลง และอย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน
สมองของเราจะจำอะไรได้ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น การพูดเร็วหรือทำเร็วจนเกินไป ก็มีส่วนทำให้สมองเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ไม่ทัน รวมถึงการทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้ลืมสิ่งที่สำคัญกว่าอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้เช่นกัน และบางครั้งก็อาจเกิดเป็นอุบัติเหตุขึ้นได้ เช่น คุณทำอาหาร ประเภทต้ม ผัด แกง ทอด อยู่แต่ละครมีฉากสำคัญใจจึงจดจ่ออยู่ที่โทรทัศน์ จนลืมไปว่าในห้องครัวทำอาหารทิ้งไว้อยู่
- ปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร
การทำซ้ำๆ เหมือนๆ กันทุกวัน จะช่วยให้สมองจำได้เองโดยไม่ต้องพยายาม เช่น ถ้าทุกครั้งที่อ่านหนังสือยังไม่จบแต่ต้องไปทำอย่างอื่น คุณวางมันไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ เมื่อเสร็จธุระจะกลับมาอ่านต่อ สมองจะสั่งการโดยอัตโนมัติว่าจะต้องไปหยิบหนังสือที่ไหน
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
การดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพให้ดีและแข็งแรงอยู่เสมอ โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมจากการทำงานหนัก รักษาความสะอาด ไม่ทำให้ตัวเองเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ตรวจสุขภาพประจำปี และออกกำลังเป็นประจำ เช่น วิ่งหรือว่ายน้ำ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังทำให้ความจำดีตามไปด้วย
- บริหารสมอง
ทำกิจกรรมที่แตกต่างบ้างให้สมองได้ผ่อนคลาย โดยใช้เวลาว่างระหว่างวันจากการทำงานหรือวันหยุด เล่นเกมทายปัญหา เกมปริศนา อ่านหนังสือ เล่นดนตรี คิดเลข กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้สมองได้ออกกำลัง เมื่อได้คิดหาวิธีต่างๆ สมองก็จะแอคทีฟขึ้น คิดอะไรได้ฉับไวเร็วขึ้น และที่แน่ๆ ก็คือช่วยให้ความจำดีขึ้นด้วยเช่นกัน
- เข้าใจความถนัดของตัวเอง
คนเราแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนจำได้ดีเมื่อได้มองเห็นจากสิ่งที่จดบันทึก บางคนจำได้ดีกว่าเมื่อได้ยินเสียงพูดดังๆ หรือเสียงจากการอัดเทป แต่ก็มีบางคนที่จะจำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติ หรือมีประสบการณ์ร่วม ทั้งนี้ลองสังเกตดูว่าคุณจำได้ดีกับวิธีการไหน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวคุณเอง แต่ถ้าจะให้ดีใช้ทั้ง 3 วิธีสลับกัน ก็จะช่วยให้สมองได้ฝึกทักษะมากขึ้น