"มะเร็งเต้านม" กับเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้
-
การมีหน้าอกใหญ่หรือหน้าอกเล็กไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะที่ผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม (breast density) มากกว่า 75% มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4-6 เท่า
-
งานวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม พบว่าผู้หญิงข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายประมาณ 47 เท่า
-
การตรวจ MRI เต้านม เหมาะกับการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่ตรวจไม่พบโดยการทดสอบอื่นๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงและผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น
หลายปีก่อน เมื่อนักแสดงฮอลลีวูดสาวชื่อดังคนหนึ่ง ขณะนั้นเธอมีอายุ 37 ปี ได้ตัดสินใจเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เนื่องจากตรวจพบความผิดปกติในยีน BRCA1 ซึ่งแพทย์คาดว่ามีความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมมากถึง 87% และมีความเสี่ยง 50% ที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ ซึ่งแม่ของนักแสดงสาวผู้นี้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่ออายุ 56 ปี การผ่าตัดครั้งนี้ได้ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของเธอลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น
ข่าวโด่งดังครั้งนั้นทำให้ผู้หญิงหลายคนหันมาสนใจตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยง รวมถึงค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม 5-10 % และพบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง
นมเล็ก นมใหญ่ ใครเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่ากัน
นพ.ชินวัตร วิสุทธิแพทย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า การมีหน้าอกใหญ่หรือหน้าอกเล็กไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญหน้าอกขนาดใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อไขมัน (fatty) ส่วนมะเร็งเต้านมนั้นเกิดขึ้นในเซลล์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนม (ductal cancer) บางส่วนเกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ในต่อมผลิตน้ำนม (lobular cancer) และส่วนน้อยเกิดจากเนื้อเยื่ออื่นๆ
อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม (breast density) มากกว่า 75% มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4-6 เท่า
การศึกษาจำนวนมากระบุว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่มักมีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่าคนปกติ ซึ่งความอ้วน การรับประทานไขมันสูง และขาดการออกกำลังกายล้วนเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีขนาดหน้าอกเท่าใด หากรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลงได้
ผู้หญิงข้ามเพศกับความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
การวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงข้ามเพศ ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ชายปกติทั่วไป
การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (HRT) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกันในผู้หญิงข้ามเพศที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน
ทีมวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์มาติน เดน ไฮเจอร์ (Professor Martin den Heijer) จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม พบว่าผู้หญิงข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายประมาณ 47 เท่า โดยการศึกษาผู้หญิงข้ามเพศจำนวน 2,260 คน อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มการรักษาด้วยฮอร์โมนคือ 31 ปี และใช้เวลาในการรักษาโดยเฉลี่ย 13 ปี พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม 15 ราย ที่อายุเฉลี่ย 50 ปีและหลังจากได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเฉลี่ย 18 ปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเสี่ยงในสตรีข้ามเพศจะเพิ่มขึ้นในระหว่างการรักษาด้วยฮอร์โมน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป
ก้อนเนื้อในเต้านม อาจไม่ใช่มะเร็งเต้านม
ปกติเซลล์มะเร็งเต้านมจะก่อตัวเป็นเนื้องอกที่มักตรวจพบได้จากการเอกซเรย์หรือคลำได้เป็นก้อน ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมมักเกิดในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าก้อนเนื้อในเต้านมส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่มะเร็ง การเกิดเนื้องอกในเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งคือการเติบโตที่ผิดปกติ แต่จะไม่แพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เนื้องอกบางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งเต้านมได้
มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เริ่มในท่อที่นำน้ำนมไปที่หัวนม (มะเร็งท่อน้ำนม) บางส่วนเริ่มต้นในต่อมที่สร้างน้ำนม (มะเร็งต่อมน้ำนม)
นอกจากนี้ยังมีมะเร็งเต้านมประเภทอื่นๆ ที่พบได้น้อย เช่น ก้อนเนื้องอกชนิดกึ่งมะเร็ง (phyllodes tumor) และมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (angiosarcoma)
แม้ว่ามะเร็งเต้านมหลายชนิดอาจทำให้เกิดก้อนในเต้านม แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองประจำปี การตรวจพบมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มาจากการตรวจคัดกรองแมมโมแกรม ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและก่อนมีอาการ ความจริงที่น่าสนใจคือหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี มะเร็งเต้านมก็เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม ผ่านท่อน้ำเหลือง
มะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายได้เมื่อเซลล์มะเร็งเข้าสู่ระบบเลือดหรือน้ำเหลืองและถูกส่งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ต่อมน้ำเหลืองพบได้ทั่วร่างกาย ท่อน้ำเหลืองทำหน้าที่ขนส่งน้ำเหลือง ซึ่งประกอบด้วยของเสีย รวมทั้งเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ท่อน้ำเหลืองจะนำน้ำเหลืองออกจากเต้านม ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งสามารถเข้าไปในท่อน้ำเหลืองและเริ่มเติบโต จากนั้นก็เดินทางผ่านระบบน้ำเหลือง แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ยิ่งมีต่อมน้ำเหลืองที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะพบมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองจะมีการแพร่กระจาย และผู้ป่วยที่ไม่มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองก็อาจจะเกิดการแพร่กระจายในภายหลังได้
แมมโมแกรม คืออะไร ควรเริ่มตรวจคัดกรองเมื่อใด
แมมโมแกรม คือการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม เป้าหมายคือการตรวจหามะเร็งก่อนที่จะสังเกตเห็นอาการ รวมถึงเป็นการตรวจเต้านมเพื่อวินิจฉัยอาการที่น่าสงสัย เช่น พบก้อนในเต้านม อาการเจ็บเต้านม หรือมีสิ่งผิดปกติบริเวณหัวนม
แมมโมแกรม ควรทำบ่อยแค่ไหน
ความถี่ในการการตรวจคัดกรอง หรือการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม ขึ้นอยู่กับอายุและความเสี่ยงของแต่ละคน
ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มทำแมมโมแกรมเมื่ออายุ 40 ปีและทำทุก 1-2 ปี สมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตรวจคัดกรองแมมโมแกรมทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีจนถึงอายุ 54 ปีจากนั้นให้ทำต่อทุก 2 ปี สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านมอาจเริ่มตรวจคัดกรองแมมโมแกรมก่อนอายุ 40 ปีรวมถึงปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง
ตรวจ MRI เต้านม ต่างจากการตรวจแมมโมแกรมอย่างไร
การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ร่วมกัน เพื่อสร้างภาพอวัยวะและโครงสร้างภายในร่างกายโดยละเอียด
การตรวจแมมโมแกรมอาจไม่สามารถตรวจพบมะเร็งทั้งหมดได้ เนื่องจากมะเร็งบางชนิดอาจมองไม่เห็นในภาพแมมโมแกรม หรือมะเร็งอาจมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงอาจอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือประวัติของรอยโรคมะเร็งเต้านมก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม
การวิจัยล่าสุดพบว่า MRI สามารถค้นหารอยโรคที่เต้านมขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้ที่มีการปลูกถ่ายเต้านม รวมถึงผู้หญิงที่อายุน้อย ซึ่งมักมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธี MRI ยังเป็นการตรวจที่ไม่ได้ใช้รังสี จึงเหมาะใช้ในการตรวจคัดกรองผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี และเพื่อเพิ่มจำนวนการตรวจคัดกรองต่อปีสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งเต้านม
อย่างไรก็ตาม MRI เต้านมก็มีข้อจำกัด เช่น ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความผิดปกติของมะเร็งได้เสมอไป ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจชิ้นเนื้อเต้านมโดยไม่จำเป็น และไม่สามารถระบุว่าเป็นหินปูนหรือการสะสมของแคลเซียมขนาดเล็กที่สามารถบ่งชี้มะเร็งเต้านมได้
แนวทางล่าสุดจากสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำการตรวจ MRI เต้านมสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง โดยพิจารณา ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของ BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA1 เป็นยีนซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะบ่งบอกถึงโอกาสที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่อมะเร็งเต้านม ส่วน BRCA2 เป็นยีนที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะบ่งบอกถึงโอกาสสืบทอดต่อมะเร็งเต้านมและ/หรือรังไข่)
- ผู้หญิงที่มีญาติใกล้ชิด (แม่ พี่หรือน้องสาว และ / หรือลูกสาว) ที่มีการกลายพันธุ์ BRCA1 หรือ BRCA2 ที่ยังไม่เคยได้รับการทดสอบการกลายพันธุ์
- ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มกว่าค่าเฉลี่ย โดยคำนวนจากแบบประเมินด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- ผู้หญิงที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอก เมื่อตอนอายุ 10-30 ปี เช่น การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma)
ทำไมต้องตรวจ MRI เต้านม
- การประเมินความผิดปกติเพิ่มเติมที่ตรวจพบโดยการตรวจแมมโมแกรมเต้านม
- การตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่ตรวจไม่พบโดยการทดสอบอื่นๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงและผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น
- การตรวจหามะเร็งในสตรีที่มีทำถุงเต้านมเทียม (Implant) หรือเนื้อเยื่อแผลเป็นจากการผ่าตัดในอดีต ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องจากการตรวจแมมโมแกรม
- การตรวจจับความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เห็นด้วยการตรวจเต้านมหรืออัลตราซาวด์ เช่น ผู้หญิงที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมอยู่ในต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขน แต่ไม่มีก้อนที่คลำได้
- ประเมินการรั่วซึมของซิลิโคนเจล ในผู้ทำศัลยกรรมเต้านม
- ประเมินขนาดและตำแหน่งที่ชัดเจนของรอยโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงความเป็นไปได้ที่มะเร็งอาจแพร่กระจาย
- เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
- การตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมเข้าสู่ผนังทรวงอก ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนทางเลือกในการรักษา
- การตรวจหาการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่หลงเหลือหลังการตัดก้อนเนื้อ
เนื่องจากความเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของผู้หญิงในปัจจุบันมีมากขึ้น ทำให้มีการตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รวมถึงความก้าวหน้าในการรักษา อุบัติการณ์ของโรคจึงชะลอตัวลง และอัตราการเสียชีวิตลดลง อย่างไรก็ตามมะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยพบบ่อยที่สุด และเป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1
ดังนั้นการพบแพทย์ตามนัดและตรวจสุขภาพประจำปีจึงยังเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ
*หมายเหตุ I.U. หรือ International Unit เป็นหน่วยวัดมาตรฐานสากลซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้อ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด เช่น วิตามิน ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก