สัญญาณความเครียดสะสม อาจเสี่ยงทำร้ายตัวเอง

สัญญาณความเครียดสะสม อาจเสี่ยงทำร้ายตัวเอง

สัญญาณความเครียดสะสม อาจเสี่ยงทำร้ายตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ความเครียด (Stress) คือภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น หรือกดดัน ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีวิธีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้

  • ความเครียดที่หาทางระบายออกไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorders)

  • คนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งของตนเองและผู้อื่น ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธี

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ต่างต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ จนไม่มีเวลาพูดคุยกับครอบครัว รวมถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้เกิดความนิยมสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีมากกว่าคุยกันแบบเห็นหน้าตา ส่งเสริมให้เกิดความเครียดสะสมมากขึ้น โดยไม่มีทางระบายออก จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

สัญญาณความเครียดสะสม

ความเครียด (Stress)  คือภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น กดดัน ทำให้มีอาการแสดงที่ต่างกัน เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว ซึมเศร้า บางคนอาจมีอาการประสาทหลอนได้ ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละคนจะมีวิธีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ขึ้นกับทักษะการจัดการความเครียดของแต่ละบุคคล แต่ในบางคนที่เกิดความเครียดและหาทางระบายออกไม่ได้หรือเครียดบ่อยๆ กลายเป็นความทุกข์ทรมาน  จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorders)

การสังเกตความเครียดเบื้องต้น

  • นอนไม่หลับ ความเครียดอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ และหากนอนไม่หลับเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจโดยรวมจน เริ่มมีภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดรุนแรง
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่ร่าเริง นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่าย และปิดกั้นตัวเอง
  • เศร้าหมอง หรือวิตกกังวล ผู้ที่มีความเครียดมักจะรู้สึกเศร้า ไม่มีความสุข หรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ จนแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง หรือคำพูด
  • ความเครียดอาจแสดงออกเป็นอาการทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ “กลั้นหายใจ” โดยไม่รู้สึกตัว ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ
  • ในกรณีรุนแรง ผู้ป่วยอาจจะพูดว่าอยากตาย บางครั้งอาจฟังเหมือนเป็นการพูดเล่น ดังนั้นจึงควรใส่ใจผู้พูดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะพบการตัดพ้อเช่นนี้ ในโลกโซเชียลหรือพูดขึ้นลอยๆ

การดูแลตนเองเมื่อรู้สึกเครียด

  • พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น
  • ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท
  • พบปะเพื่อนฝูง เพื่อพูดคุยในเรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะ และระบายปัญหาต่างๆ (หากเพื่อนรับฟัง)
  • จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน หรือโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือแจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น
  • ดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือตลกหรือสนุกสนาน 

การรักษาอาการเครียด

หากความเครียดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกระทบต่อการทำงาน หรือมีผลต่อผู้อื่น การพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง โดยจิตแพทย์จะทำการรักษาโดย

  • แพทย์พูดคุยซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์และหาสาเหตุของความเครียด
  • ในกรณีความเครียดส่งผลทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดท้อง หรือปวดศีรษะ จิตแพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ
  • การให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและหาสาเหตุของปัญหา ชี้แนะอย่างถูกวิธีเพื่อคลายความเครียด
  • จิตบำบัด ซึ่งต้องได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์

ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย หลายคนสามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง บางคนมีคนใกล้ชิดให้พูดคุยผ่อนคลาย แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งของตนเองและผู้อื่น ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook