สมาคมจิตแพทย์ฯ แจง 10 ผลกระทบต่อจิตใจ จากข่าวสถานการณ์บ้านเมือง
จากสถานการณ์บ้านเมืองที่ค่อนข้างดุเดือด เป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ เหตุการณ์บ้านเมืองเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราอย่างไรบ้าง Sanook Health มีข้อมูลจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มาฝากกัน
สถานการณ์บ้านเมืองส่งผลต่อจิตใจอย่างไร?
สถานการณ์บ้านเมืองนอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตในสังคมแล้วยังส่งผลกระทบต่อจิตใจได้อย่างมาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่าง ทำให้สภาพจิตใจของคนไทยหลายๆ คน ได้รับผลกระทบกันไปต่างๆ กันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่สิ่งที่ตนเองได้รับผล และความใส่ใจกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เรามาดูผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
-
ความวิตกกังวล
เหตุการณ์ที่หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปทิศทางใด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นในใจ กระตุ้นมโนด้านลบไปได้มาก สร้างความรู้สึกวิตกกังวลได้อย่างมาก หรือในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถ้าคนใกล้ตัวเป็นคนละฝ่ายกับเรา เราเห็นไม่เหมือนเขา เกรงการทะเลาะเบาะแว้ง เกรงเขาจะไม่โอเคกับเรา ถ้าเห็นต่างกัน จึงเกิดความวิตกกังวลได้ หรือวิตกกังวลว่าคนที่ตนรักจะได้รับบาดเจ็บ เดือดร้อน จากไปร่วมชุมนุมทางการเมือง
-
ความรู้สึกซึมเศร้า
เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้ กระตุ้นความรู้สึกสิ้นหวังได้มาก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ได้ ยิ่งถ้าใครมีผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น อาชีพการงาน การทำธุรกิจที่ถูกผลกระทบเข้าไปอย่างจัง อาจยิ่งเพิ่มดีกรีความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้มาก เพราะมีผลความอยู่รอดด้วย
-
ความโกรธ
จากความเกลียดชัง หรือ ความหงุดหงิดรำคาญ ที่มีต่ออีกฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิด หรือจากความผิดหวังที่มีต่อคนที่เราคาดหวังไว้มาก แล้วเขาไม่เป็นอย่างหวัง เหล่านี้กระตุ้นอารมณ์โกรธ จนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทั้งคำพูด การแสดงออก ท่าทางสีหน้า หรือเข้าไปทำร้ายกันจนบาดเจ็บ
-
ความกลัว
จากความที่เหตุการณ์ไม่มีความแน่นอน มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ควบคุมได้ยาก และหาที่พึ่งพิงไม่ได้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยของการใช้ชีวิต กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้
-
ความรู้สึกผิด
ด้วยสถานการณ์ที่เร่งเร้า และเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงชัยชนะ ต้องการทุกเสียงแสดงพลังประชาชน ในการสนับสนุนพวกตน และต่อต้านฝั่งตรงข้ามทำให้บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ฝ่ายตนเรียกร้องให้ออกมา เช่น การชุมนุมเดินขบวน ส่งผลให้รู้สึกเหมือนตนเองทำผิด ต่อเพื่อน ต่อคนรัก ต่อคนในครอบครัว กระทั่งต่อชาติที่ตนไม่ได้ทำอย่างที่ฝ่ายตนคาดหวัง หรือบางคนรู้สึกผิดที่พาคนอื่นไปร่วมชุมนุมแล้วเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ทำให้คนที่ตนพาไปบาดเจ็บหรือเดือดร้อน เกิดความรู้สึกผิดได้
-
ความรู้สึกแปลกแยก
ความเห็นต่าง ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ยอมรับ ของเพื่อน ของคนรัก ของครองครัว และของสังคมที่ตนอยู่
-
ความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวด
จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปอย่างที่ตนวาดหวังไว้ หรือเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่ตนคิดไว้
-
ความรู้สึกเก็บกด
สถานการณ์ที่ต่างฝ่าย ต่างยึดถือความคิดตนเอง อย่างรุนแรง และ แทบไม่ฟังความคิดความเห็นของอีกฝั่ง ทำให้บางคนไม่กล้าแสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึกใดๆ ออกมาเกรงจะไม่เข้าพวก เกรงจะไม่เป็นที่รักและยอมรับของคนใกล้ตัว คนในสังคมที่ตนอยู่ เลยต้องเก็บกดความรู้สึก ความคิดเห็นและความปรารถนาของตนเองลงไป
-
ความรู้สึกเป็นฮีโร่
เกิดจากสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ กระตุ้นความรู้สึกว่าเราต้องเขากู้สถานการณ์ เพื่อผดุงความถูกต้อง ความยุติธรรมเพื่อให้ทุกอย่างออกมาตามอุดมคติ เพราะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแย่ และต้องการคนเข้ามากู้วิกฤติ
-
ความรู้สึกฮึกเหิม
สถานการณ์ที่กระตุ้นความรู้สึกรักชาติ หรือกระตุ้นความรู้สึก “พวกเราร่วมกัน ต่อต้านพวกมัน” ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมได้มาก การเจอคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน รักสิ่งเดียวกัน เกลียดสิ่งเดียว เป็นความรู้สึกหลอมรวม รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกถึงการยอมรับที่มีต่อกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มและอิ่มอกอิ่มใจได้อย่างมาก
จากผลกระทบด้านจิตใจดังที่ได้กล่าวมา มีทั้งความรู้สึกด้านลบ และความรู้สึกด้านบวก แต่ผลทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ คือ ทำให้จิตใจขาดความสงบสุข เกิดความปั่นป่วนภายในใจได้ตลอดเวลา ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง
หากใครมีปัญหาทางสภาพจิต เครียด นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป เหนื่อยล้าอย่างไร้สาเหตุ และอาการอื่นๆ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่จิตแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323