เร่งตรวจร้าน "ซาซิมิ-ซูชิ" ทั่วประเทศ สุ่มร้านขึ้นห้างฯปี 56 พบจุลินทรีย์เกินครึ่ง!
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักอนามัย กทม.มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ คอแลรี (Vibrio cholerae) ในซาซิมิ โดยมีคนเป็นพาหะนำเชื้อ ว่า เรื่องนี้ในสวนของกทม.นั้นจะเป็นอำนาจของทางกทม.ที่จะเข้าไปดูแลจัดการ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นจะมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นคนดูแล เบื้องต้นตนได้มีการประสานด้วยวาจาขอให้ สสจ.ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มซาซิมิ ซูชิ และจะมีการส่งหนังสืออย่างเป็นทางการตามไปใน 2-3 วันนี้ โดยขั้นตอนการตรวจสอบนั้น หากพบความเสี่ยงจะมีการเก็บตัวอย่างอาหารเหล่านั้นส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ต่อไป
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่วางเกณฑ์มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และร้านอาหาร เช่น มาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste) นั้นกำหนดหลักเกณฑ์ให้ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามทั้งหมด 15 ข้อ อาหาร 12 ข้อ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ส่วนการดูแลควบคุมร้านอาหาร อนุญาตเปิดร้านอาหาร หรือขายอาหารตามแหล่งต่างๆ นั้นเป็นอำนาจของท้องถิ่น เทศบาล เป็นคนดูแล โดยอาจจะออกเกณฑ์ใหม่ หรือใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยทำไว้ก็ได้ อย่างเช่น กทม.ก็ถือเป็นท้องถิ่น จึงเป็นอำนาจของกทม.ในการดูแล อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมอนามัยผลักดันร่างกฎกระทรวงวางหลักเกณฑ์มาตรฐานของร้านอาหาร ร้านแผงลอยต่างๆ โดยบังคับให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จากเดิมที่เป็นระบบการขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยกฎหมายดังกล่าวตอนนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้าน น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อปี 2555-2558 เพื่อหาโลหะหนัก 3 ชนิดคือ ปรอท ตะกั่ว และแคทเมียม ในการตรวจหาสาปรอทได้มีการเก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอน 78 ตัวอย่าง พบบนเปื้อนสารปรอท 46 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59 ปริมาณที่พบ 0.01-0.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เก็บตัวอย่างปลาแซลมอนตรวจหาสารตะกั่ว 62 ตัวอย่าง พบ 5 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเก็บตัวอย่างปลาแซลลมอน 153 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาสารแคทเมียม พบการปนเปื้อนใน3 ตัวอย่างปริมาณที่พบ 0.02-0.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยสรุปการตรวจปริมาณโลหะหนัก 3 ตัวนั้น พบการปนเปื้อนในปริมาณต่ำ ไม่เกินจากประมาณที่ประกาศของกระทรวงสาธาณสุขกำหนดให้มี อย่างในกรณีของแคทเมียมนั้นประเทศไทยไม่มีประกาศกำหนดปริมาณไว้ แต่ก็ได้มีการนำไปเทียบเคียงกับมาตรฐานโคเด็กซ์ และมาตรฐานของอียูก็ยังอยู่ในประมาณต่ำ ดังนั้นถือว่าเนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
น.ส.จารุวรรณ กล่าวว่า เมื่อปี 2556 กรมฯ ได้เก็บตัวอย่างซาซิมิจากร้านอาหารญี่ปุ่น ภัตราคารต่างๆ ซูเปอร์มาเก็ต และมินิมาร์ท 52 ตัวอย่าง ทั้งกทม.ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อตรวจหาจุลินทรีย์ที่เป็นดัชนีบ่งชี้สุขลักษณะที่ดีของสถานประกอบการ และตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิด คือ 1. เชื้อวิบริโอ คอราลี (Vibrio cholera) หรือเชื้ออหิวาตกโรค 2. พาราฮีโมไลติคัส (parahaemolyticus) หรือเชื้ออหิวาตกโรคเทียม 3. ซาโมไนลา (salmonella) 4. ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) และ 5. สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และยังตรวจหาพยาธิตัวกลม
โดยผลการตรวจสอบพบว่า 37 ตัวอย่าง มีสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี เพราะเจอจุลินทรีย์ 25 ตัวอย่าง เจอเชื้ออีโคไล 1 ตัวอย่าง และเจอะทั้งจุลินทรีย์และอีโคไลเกินมาตรฐานอ 11 ตัวอย่าง ส่วนผลการตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรคพบว่ามีเชื้อวิบริโอ และเชื้อพาราฮีโมไลติคัสใน 7 ตัวอย่าง มีเชื้อซาโมไนลา 1 ตัวอย่าง เชื้อลิสทีเรียฯ 5 ตัวอย่าง แต่ไม่เจอพยาธิ