รู้ทัน “โรคหลอดเลือดสมอง” โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1

รู้ทัน “โรคหลอดเลือดสมอง” โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1

รู้ทัน “โรคหลอดเลือดสมอง” โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่?  โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย

โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke)

โรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมองที่ทำให้สมองอยู่ในภาวะขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต และบางกรณีร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

โรคหลอดเลือดสมอง สามารถแบ่งได้ ดังนี้

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาการหลอดเลือดสมองตีบ อาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง จนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน

ภาวะหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด

เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ประกอบกับมีภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้บริเวณที่เปราะบางอยู่ เกิดการโป่งพองและแตกออก ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดเลือดออกในสมองเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

เนื่องจากมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดสมองหรือตีบตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ชั่วขณะ แต่อาการไม่รุนแรงมาก เนื่องจากสมองไม่ได้รับความเสียหายถาวร

ทั้งนี้ อาการสมองขาดเลือดชั่วคราว อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ฉะนั้น หากผู้ป่วยที่มีอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

  • อายุ เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนในวัยอื่นๆ แต่ทั้งนี้ คนในวัยอื่นๆ ก็มีก็โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน
  • ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
  • ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
  • การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ทั้งยังทำลายผนังหลอดเลือด เป็นผลให้หลอดเลือดแข็งตัว
  • ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ไขมันในเลือดสูง เป็นเหตุให้เส้นเลือดแข็งตัวง่าย
  • โรคเกี่ยวกับเลือด อย่างโรคโลหิตจางบางชนิด อาทิ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell disease)
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • อยู่ในภาวะเครียดสูง

สัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดสมอง”

  • ใบหน้าชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือพูดลำบาก
  • แขนหรือขาข้างใด ข้างหนึ่งอ่อนแรงแบบเฉียบพลัน
  • ตามัว มองไม่เห็น หรือเห็นภาพซ้อน
  • มึนงง เวียนศีรษะ
  • เดินเซ เสียการทรงตัว

สัญญาณเตือนเหล่านี้อาจเกิดเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ และบางรายอาจมีอาการผิดปกติเหล่านี้ชั่วขณะ ก่อนดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสมองขาดเลือดชั่วคราว

แต่อย่างไร หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

และหากไม่ถึงชีวิตก็อาจทำให้เป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ซึ่งอาการดังกล่าวต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพค่อนข้างนาน เพื่อให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

เคยเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” มีโอกาสกลับมาเป็นอีกหรือไม่

ผู้ที่เคยป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แม้จะได้รับการรักษาฟื้นฟูจนอาการดีขึ้น ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อีก ฉะนั้น ควรป้องกันก่อนเกิดโรคอีกครั้ง ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง หรือพบแพทย์ตามนัดหมาย
  • ทานยารักษาอย่างต่อเนื่อง แม้อาการจะหายเป็นปกติ
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเค็ม หวาน มัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  • งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถ้ามีอาการเตือน ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แม้อาการเหล่านั้นจะหายไปเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook