จิตวิทยาว่าด้วย “การเห็นต่าง” ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้
จากสถานการณ์บ้านเราในขณะนี้ เรียกได้ว่ากำลังร้อนแรงสุดๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง (แต่จริงๆ เราค่อนข้างคุ้นเคยกับสถานการณ์ทำนองนี้ดี) เพราะในสังคมมีคนเห็นต่างกัน คิดไม่เหมือนกันอยู่มากมาย ถ้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คงเป็นกลุ่ม “เห็นด้วย” กับ “ไม่เห็นด้วย” สำหรับเรื่องเล็กก็อาจจะไม่ยากเท่าไรที่จะให้คนก้าวข้ามความเห็นที่แตกต่างแล้วหันหน้ามาพูดคุยกันดีๆ แต่ถ้าใหญ่กว่านั้น มีเรื่องของจำนวนคนที่เชื่อเหมือนๆ กัน เข้ามาด้วย เมื่อเชื่อหรือคิดเหมือนกันเป็นวงกว้าง
แต่ต่อให้เรามีความเห็นต่างกันอย่างไร เราก็จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน มีหลักจิตวิทยาสำคัญที่ควรรู้ เพื่อที่เราจะได้พยายามปรับตัว คือ
Confirmation bias and the false consensus effect
“confirmation bias” เป็นหลักจิตวิทยาที่ใช้อธิบายว่าทำไมคนเราจึงได้มีความเห็นที่ต่างกันมากขนาดนี้ ทั้งที่อยู่ในสังคมเดียวกัน หรือแม้แต่คนบ้านเดียวกัน ก็ยังมีความคิดต่างกันคนละขั้วเลยก็มี
เริ่มจากการที่สมองคนเรารับข้อมูลข่าวสารมากมายในแต่ละวัน ซึ่งบางทีข้อมูลที่เรารับเข้ามามันมากเกินกว่าที่สมองจะจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองเราจึงเลือกเฟ้นเฉพาะข้อมูลที่สามารถเข้ากันได้กับความเชื่อที่เรามีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน สมองจะคัดทิ้งข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อพื้นฐานเราออกไป
แต่ไม่ต้องกังวล นี่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางสติปัญญา เพราะนี่เป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ ซึ่งจะแตกต่างกับการที่เรามานั่งพิจารณาคัดเลือกข้อมูลเองว่าจะเก็บข้อมูลอะไร จะทิ้งข้อมูลอะไร นี่จึงอธิบายได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรับข้อมูลชุดเดียวกัน แต่สมองของแต่ละคนจะถอดรหัสข้อมูลไม่เหมือนกัน ทำให้เราตีความข้อมูลกันได้หลายอย่าง ซึ่งอาจจะคนละขั้วเลยด้วยซ้ำ เพราะต่างคนต่างใช้ความเชื่อที่มีอยู่เดิมของตนมาเป็นบรรทัดฐาน
อันที่จริง ลักษณะของ “confirmation bias” นี้ เป็นตัวผลักดันให้เรามีพฤติกรรมแสวงหาแต่ข้อมูลที่สนใจจะเสพ มากกว่าจะไปเสพข้อมูลที่ขัดแย้งกับความชอบของตัวเอง (คือต้องเปิดใจและวางจากอคติจริง ๆ ถึงจะยอมทนเสพได้) ซึ่งเหมือนกับการทำงานของ AI ของระบบคอมพิวเตอร์ คือ สมองคนเราจะเลือกเสพเฉพาะข้อมูลที่เราสนใจ มีพื้นฐานความเชื่ออยู่เดิม เห็นตัวอย่างได้จาก Facebook เราก็จะกดถูกใจหรือกดติดตามแต่ในสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในหัวตัวเองแล้วทั้งนั้น อย่างเพื่อน เรายังเลือกคบแบบ “ศีลเสมอกัน” คือ มีความคิด มีพฤติกรรม มีนิสัยหลายๆ อย่างคล้ายกัน
แต่เมื่อไรก็ตามที่เพื่อนคนนั้นเกิดมีความคิดที่เปลี่ยนไปแล้วไม่ตรงกับเราขึ้นมา ปฏิกิริยาของเราต่อจากนั้นคือ คัดเพื่อนคนนี้ทิ้ง นำไปสู่การ Unfriend, Unfollow และเลิกคบกันอย่างถาวร
เรียกง่ายๆ ก็คือ confirmation bias เป็นความลำเอียงของสมองที่จะเลือกเข้าข้างกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่ของตัวเอง ทำให้เราเหมือนติดอยู่ใน “echo chamber” หรือห้องเสียงสะท้อน ที่มีแต่เสียงสะท้อนของตัวเราเองจากทุกทิศทางๆ ซ้ำไปซ้ำมาก้องเข้าหู เพราะเราได้เห็นเฉพาะความเชื่อแบบเดิม ๆ เห็นเฉพาะมุมมองของคนอื่นที่ล้วนแต่มีความคิด มีความเชื่อไปในทางเดียวกับเราเท่านั้น
นั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ “false consensus effect” ตามมา สิ่งนี้เองที่เป็นกับดัก เพราะทำให้เราหลงเชื่อว่า “ใครๆ ก็คิดแบบเดียวกับเรา เชื่อแบบเดียวกันกับเรา” ยิ่งถ้าเรารู้สึกว่ามีคนที่มีความคิดเหมือนกันเข้ามาอยู่ฝั่งเดียวกันกับเรามากขึ้น เราก็ยิ่งมั่นใจในความเชื่อของเรามากเท่านั้น ว่าความคิดเรานี่แหละที่ถูกต้องที่สุด และเริ่มไปตราหน้าฝั่งที่คิดตรงกันข้ามกับเราว่าเป็นฝ่ายที่ผิด ไม่เปิดใจรับความจริง หรืออาจถึงขั้นด่าทอว่าโง่เลยก็มี และเริ่มมีคำเรียกที่ใช้แสดงความเกลียดชัง
หากเราเอาแต่ฝังตัวอยู่ในห้องเสียงสะท้อน โดยเฉพาะทาง social media ที่เป็นแหล่งเสพข่าวของคนในยุคปัจจุบัน เราก็จะรับแต่ข้อมูลที่เราเห็นด้วยมากขึ้นๆ ปิดกั้นข้อมูลในฝั่งตรงข้าม และรับข้อมูลที่พูดถึงอีกฝ่ายด้วยความรู้สึกที่รุนแรงขึ้น ความรู้สึกของเราต่ออีกฝ่ายก็จะยิ่งแย่ลง ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะมานั่งจับเข่าคุยกันแบบไม่ทะเลาะกัน
เราจะพาตัวเองออกจากห้องเสียงสะท้อนได้อย่างไร
รู้จักตัวตนของเขาก่อน
ก่อนจะตัดสินใจตราหน้าใคร (ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรไปตราหน้าใครทั้งนั้น) ควรที่จะทำความรู้จักตัวตนของเขาที่อยู่นอกเหนือจากความขัดแย้งที่เป็นประเด็นก่อน อย่าเพิ่งเกลียดใครทั้งที่เราไม่รู้จัก ลองศึกษาชีวิตของเขา เรื่องครอบครัว กิจกรรมยามว่าง ของโปรดปราน ฯลฯ แต่ไม่ควรจะไปเปิดสงครามด้วยการชวนคุยในเรื่องที่คิดไม่เหมือนกันทันที พยายามหาในสิ่งที่มีร่วมกัน เพื่อจูงใจให้สนิทสนมกันมากพอที่จะเปิดใจคุย
การพยายามทำความรู้จักเขา เราอาจจะเห็นต้นตอว่าอะไรที่ทำให้เขามีความคิดความเชื่อแบบนั้น อีกทั้งการที่เราไม่ตัดสินหรือตราหน้าเขาในทันที เมื่อเราได้เห็นตัวตนอีกด้านของเขา เราอาจจะมองเขาด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น หากไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เราก็พอจะมองข้ามความผิดใจกันเล็กๆ น้อยๆ เพราะเห็นแก่ตัวตนจริงๆ ของเขา ที่เป็นส่วนดี ไม่มองเหมารวมแบบว่าเขาโง่ หรือเขาผิด
เปิดใจ วางอคติ แล้วอย่าเลี่ยงที่จะคุยกับคนเห็นต่าง
พูดง่ายแต่ทำยาก ในเมื่อเรามีชุดความคิดหนึ่งฝังหัวไปแล้ว ยากที่จะเปิดใจรับฟังข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ตัวเองเชื่ออยู่เดิม แต่การที่เรามีความเชื่อฝังหัว พร้อมกับการขังตัวเองให้รับรู้แต่ข้อมูลที่เราเห็นด้วยนั้น ยิ่งเหมือนกับการขุดหลุมฝังตัวเอง ที่จะรับรู้ข้อมูลอยู่เพียงด้านเดียว และไม่เคยรับข้อมูลอีกด้านมาประกอบการพิจารณา
แต่ถึงจะยากเราก็ต้องพยายามฝืนตัวเอง หากไม่สามารถเริ่มจากการนั่งคุยกันแบบเห็นหน้าได้ ลองเริ่มจากการเปิดใจอ่านข้อมูลอื่นที่ตรงข้ามกับความเชื่อเดิม แรกๆ เราอาจจะรู้สึกหงุดหงิด หัวร้อน กำหมัด แต่ให้พยายามฝืนตัวเอง อย่างน้อยคือฝืนอ่านให้จบ แล้วนำมาคิดพิจารณาตาม ถึงเราจะยังคงเชื่อในความคิดแบบเดิมของตัวเอง แต่เราก็ยังมีข้อมูลที่มากขึ้น และเป็นข้อมูลที่เราปฏิเสธมันมาตลอด
ทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนใจ
การที่เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ กับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่มีความคิด ความเชื่อต่างจากเรา ด้วยกลัวว่าจะทะเลาะกัน หรือกลัวว่าจะผิดใจกันแบบตัดญาติขาดมิตร ล้วนเป็นการหนีปัญหา เพราะถ้าไม่เปิดใจคุยกัน ก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าข้อมูลอีกด้านเป็นอย่างไร แต่ถ้ายังพอที่จะประนีประนอมคุยกันได้ ควรคุยแบบทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การคุยแบบชวนหาเรื่องทะเลาะ ใช้เหตุใช้ผลคุยกันดีๆ แล้วพยายามถามอีกฝ่ายว่าทำไมจึงได้คิดเช่นนั้น
เพราะการเปลี่ยนใจคนไม่ใช่เรื่องง่าย และที่จริงเราไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความคิดความเชื่อของเขาด้วยซ้ำ เพราะต่อให้เราจะไม่เห็นด้วยกับเขามากเท่าไร พยายามคุยกันด้วยเหตุผลมากแค่ไหน สิ่งที่เรารักษาได้มีแค่มิตรภาพเท่านั้น อย่าลืมว่าลึกๆ แล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงมีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่ดี แล้วก็มีหลักเกณฑ์สำหรับความเชื่อของตนเองเหมือนกัน ที่สำคัญ ก็ไม่มีเกณฑ์อะไรที่เสถียรพอจะใช้เป็นเกณฑ์วัดได้ว่าใครถูกใครผิด เราจึงทำได้เพียงพยายามเข้าใจเท่านั้น โดยไม่ไปเปลี่ยนความคิดเขา ถ้าเขาจะเปลี่ยน เขาเปลี่ยนเอง