สธ.แถลง "ไวรัสซิกา" ระบาดในไทย จับตาอาการ "ไข้-มีผื่น-ตาแดง-เมื่อย" เข้าข่าย!

สธ.แถลง "ไวรัสซิกา" ระบาดในไทย จับตาอาการ "ไข้-มีผื่น-ตาแดง-เมื่อย" เข้าข่าย!

สธ.แถลง "ไวรัสซิกา" ระบาดในไทย จับตาอาการ "ไข้-มีผื่น-ตาแดง-เมื่อย" เข้าข่าย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรคแถลงร่วม รพ.ภูมิพลฯ หลังข่าวคนหวั่นไวรัสซิการะบาดในไทย เหตุพบผู้ป่วยเพิ่มอีกราย ย้ำไม่ใช่โรคใหม่พบตั้งแต่ปี 2555 วอนอย่าแตกตื่น พร้อมออกประกาศเพิ่มเติม 2 ฉบับ จัด 4 กลุ่มเสี่ยงระวังพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญย้ำสังเกตอาการ “ไข้ – มีผื่น-ตาแดง-ปวดเมื่อย” อาจเข้าข่าย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากข่าวพบคนไทยเดินทางไปไต้หวันติดเชื้อไวรัสซิกา และขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่ไต้หวันนั้น ล่าสุดเกิดกระแสข่าวตื่นตระหนกว่า พบคนไทยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอีกเป็นรายที่ 2 ของประเทศไทย โดยรักษาตัวอยู่ที่รพ.ภูมิพลอดุลยเดช โดยที่กังวลคือ จะเกิดการระบาดในประเทศไทยหรือไม่ ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกยังประกาศให้โรคนี้เข้าข่ายสถานการณ์ฉุกเฉิน

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กรมควบคุมโรค(คร.) ได้จัดแถลงข่าวด่วนภายหลังทราบข่าวประชาชนแตกตื่นเรื่องดังกล่าว โดยมี นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และ พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เข้าร่วมแถลงข่าวครั้งนี้

พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า กรณีนี้ ไม่ใช่ผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย แต่เป็นผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลภูมิพล เป็นชายไทยอายุประมาณ 20 กว่าปี เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาด้วยอาการไข้ มีผื่น ตาแดง เมื่อยตามเนื้อตัว จากการตรวจสอบยืนยันว่า เป็นไข้ซิกา ซึ่งให้การรักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มกราคม อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นพาหะ เพราะการแพร่โรคจะเป็นไข้ แต่รายนี้ไม่มี ที่สำคัญรายนี้ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด อย่างไรก็ตาม ที่กังวลคือ ปัญหาทารกในครรภ์มารดาที่ติดเชื้อ โดยที่ต้องระวังคือช่วงตั้งครรภ์แรกๆ ประมาณ 12 สัปดาห์ จึงทำให้เกิดข้อกังวล แต่จริงๆ หญิงตั้งครรภ์ต้องดูแลสุขภาพตัวเองอยู่แล้ว

นพ.อำนวย กล่าวว่า ประเทศไทยพบร่องรอยโรคนี้ตั้งแต่ปี 2506 แต่พบผู้ป่วยรายแรกในปี 2555 ซึ่งตั้งแต่ปี 2555-2558 เฉลี่ย 2-5 ราย และทุกครั้งที่พบผู้ป่วยแต่ละรายก็จะหายได้เอง ไม่มีการแพร่ระบาดวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่าโรคนี้จะมาในลักษณะข้ามประเทศ หรือ Case Import เพราะในประเทศก็พบเจอได้ เพียงแต่ควบคุมได้ โดย คร.มีมาตรการต่างๆ ทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การกำจัดยุงลาย ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์จะมีกิจกรรมรณรงค์ครั้งใหญ่ร่วมกับทุกหน่วยงานเกี่ยวกับการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะโรค 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย) และซิกา นอกจากนี้ ก็มีคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีข้อกังวลเรื่องหญิงตั้งครรภ์ที่หากรับเชื้อจะส่งผลต่อทารกให้ศีรษะลีบแบน นพ.อำนวย กล่าวว่า จริงๆ หญิงตั้งครรภ์จะต้องดูแลตัวเองในทุกด้านมากกว่าคนทั่วไป แต่ในเรื่องนี้ก็มีมาตรการเฝ้าระวัง โดยจัดกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม มี 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.ผู้ป่วยไข้ออกผื่น ที่มาสถานพยาบาลไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดต้องคัดกรองเป็นพิเศษ เพราะอาจเข้าข่ายอาการของซิกา 3. ทารกศีรษะเล็ก และ4. ผู้ป่วยปลายประสาทอักเสบ โดยกลุ่มอาการเหล่านี้จะบ่งบอกว่าเข้าข่ายโรคซิกาได้ และในกรณีหญิงตั้งครรภ์หากมีอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อทำการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลว่า ยุงลายในประเทศไทยถือว่าเป็นพาหะนำโรคมากน้อยแค่ไหน นพ.อำนวยกล่าวว่า ได้มีการประสานภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการติดตามเรื่องยุงว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ คร.ยังได้ออกประกาศเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ จากฉบับแรกที่เกี่ยวกับประกาศเรื่องโรคไข้ซิกา ในเรื่องอาการ การดูแล เฝ้าระวังต่างๆ โดยประกาศใหม่ คือ 1. ประกาศสธ.เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ โดยระบุว่าอาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และ 2.ประกาศสธ.เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจได้กำชับสถานพยาบาลในสังกัดให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่มอย่างถี่ถ้วน ขณะเดียวกันได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์กับนักระบาดวิทยาภาคสนามในระดับอาเซียนบวกสามด้วย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยไวรัสซิกา อาการไม่ได้รุนแรงมาก เพราะปกติจะหายเองได้ภายใน 7 วัน ส่วนที่เกิดการระบาดจนองค์การอนามัยโลกออกมาประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะเด็กที่คลอดออกมามีความพิการทางสมอง จึงต้องออกประกาศดังกล่าว โดยกำชับให้มีการดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ได้มีการประสานไปยังราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีศีรษะเล็กว่า สัมพันธ์กับเชื้อซิกาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ และยังประสานไปยังราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ในการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบว่า มาด้วยสาเหตุอะไรด้วย เพื่อให้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งนี้ อาการของโรคนี้คล้ายไข้เลือดออก กับชิคุนกุนยา มีไข้ ผื่น ปวดข้อ แต่ที่ต้องระวังในหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีรายงานในบราซิล เนื่องจากพบว่าทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็กประมาณ 3,000 คน ซึ่งพบสูงขึ้นมากจากปกติอัตรา 0.5 คนต่อประชากรทารกหมื่นคน พุ่งสูงขึ้นเป็นอัตรา 20 คนต่อประชากรทารกหมื่นคน เมื่อศึกษาจึงพบว่าเกี่ยวพันกับเชื้อซิกา จึงมีการเฝ้าระวังกันมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า หญิงตั้งครรภ์หากไปเจาะเลือดตรวจจะทราบว่าเด็กมีภาวะป่วยด้วยหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่สามารถตรวจหาเชื้อในทารกได้ เนื่องจากแอนติบอดีจะเหมือนกับไข้เด็งกี่ และไข้สมองอักเสบ จะต้องเจาะน้ำคร่ำจึงจะตรวจได้

อ่านเรื่องเกี่ยวกับไวรัสซิกาเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ภาพประกอบจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook