ไวรัส RSV กับ ไข้หวัด อาการต่างกันอย่างไร
อาการติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดามาก แต่หากเป็น RSV แล้วไม่รีบรักษา อาจมีอาการหนักได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก
เชื้อไวรัส RSV พบการติดเชื้อได้ในเด็กเล็กค่อนข้างบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ หากไม่สังเกตอาการให้ดี พ่อแม่อาจคิดว่าเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา และอาจไม่ได้ให้เด็กเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้มีอาการหนักขึ้นได้ ดังนั้นการสังเกตอาการและความแตกต่างระหว่างการติดเชื้อ RSV และไข้หวัดธรรมดาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เชื้อ RSV คืออะไร
RSV คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
กลุ่มเสี่ยงเชื้อ RSV
กลุ่มเสี่ยงเชื้อ RSV มักเป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาลดภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงผู้สูงอายุ
อาการของการติดเชื้อ RSV กับ ไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร
ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการของผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ RSV มีความใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาค่อนข้างมาก เช่น มีไข้ ตัวร้อน ไอ จาม แต่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ RSV จะมีอาการเพิ่มเติมที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ตัวเขียว
- ไอหนักกว่าปกติ
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว หรือหายใจแรง จนหน้าอกบุ๋ม
- มีเสมหะมาก
- เด็กมีอาการซึมลง กินน้อยลง หรืออารมณ์ไม่ดีผิดปกติ
ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาโดยละเอียด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียจนอาจผลให้เสียชีวิตได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อ RSV
เบื้องต้นสามารถป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้เหมือนกับการป้องกันจากโรคไข้หวัดปกติ แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่
- ล้างมือบ่อยๆ ทั้งเด็ก พ่อแม่ และผู้ดูแล และสอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่แออัด หรือที่ที่มีเด็กรวมอยู่กันเป็นจำนวนมาก
- หากเด็กมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรงดพาเด็กออกนอกบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
- สอนให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย (ในวัยที่ใส่ได้) ทุกครั้งที่มีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม
- หากมีเด็กอยู่ร่วมกันมากกว่า 1 คน เช่น พี่น้อง ควรแยกกันเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อด้วยกันทั้งคู่
- ทำความสะอาดบ้าน สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และของใช้ส่วนตัวของเด็กบ่อยๆ
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ