"ปัสสาวะบ่อย" เป็นโรคอะไร?

"ปัสสาวะบ่อย" เป็นโรคอะไร?

"ปัสสาวะบ่อย" เป็นโรคอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะของการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ บางคนปวดปัสสาวะ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง หรือต้องลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อยๆ ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

"ปัสสาวะบ่อย" เป็นโรคอะไร?

ศ.นพ.วชิร คชการ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย บางรายไม่รู้ตัวว่าเป็นอยู่หรือไม่รู้ตัวว่า มีอาการส่อแววว่าเข้าข่ายโรคนี้ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าคนทั่วไป ทุกครั้งที่ปวดจะมีอาการรุนแรงที่ต้องเข้าห้องน้ำให้ได้ อาจปวดทุกชั่วโมงจนไม่เป็นอันทำอะไร แม้แต่ตอนกลางคืนก็นอนไม่ได้เพราะต้องลุกมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน สร้างความทุกข์ทรมานและความรำคาญให้กับผู้ที่เป็น

ในภาวะคนปกติ เมื่อมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณครึ่งหนึ่งของกระเพาะปัสสาวะ คนทั่วไปจะเริ่มรู้สึกหน่วงๆ ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าปวด แต่หากเดินผ่านห้องน้ำก็อาจจะแวะเข้าห้องน้ำ เพื่อปลดความหน่วงนั้นทิ้งไป แต่ถ้ายังหาห้องน้ำไม่ได้ หรือติดภารกิจอื่นอยู่ จะยังไม่ขวนขวายที่จะเข้าห้องน้ำกระทั่งมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเต็ม กระเพาะปัสสาวะจะเกิดการบีบตัวและปวดในที่สุด และเมื่อปวดคนปกติจะเข้าห้องน้ำและถ่ายปัสสาวะตามลำดับ

แต่ถ้าหากเป็นคนที่ผิดปกติหรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยเกือบทุกชั่วโมง หากเป็นเวลากลางคืนจะนอนไม่เพียงพอเพราะต้องลุกมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน ซึ่งกระเพาะปัสสาวะจะเกิดการบีบตัวทั้งที่น้ำยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ เมื่อขับถ่ายออกมาจะมีปริมาณน้อยสวนทางกับอาการปวด เพราะคนที่มีภาวะนี้ จะรู้สึกปวดหนักมากและต้องเข้าห้องน้ำให้ได้ และอาจกลั้นไม่อยู่จนต้องปล่อยราดออกมา

รู้จัก ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป

สาเหตุที่แท้จริงของภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สรุปได้ คร่าวๆ ได้ว่ามีบางอย่างรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับระบบประสาทควบคุมที่ทำให้มีการบีบตัวไวเกินไป แต่อย่างไรก็ตามอาจมีโรคอื่นที่ไม่ใช่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน หากมีการพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจหาโรคอื่นก่อน เช่น ตรวจอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะว่ามีหรือไม่ ตรวจว่ามีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ หรืออาจตรวจเลือดหาความผิดปกติ และตรวจดูการทำงานของไตว่า มีความบกพร่องหรือมีการกลั่นปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือไม่

อาจต้องให้คนไข้จดบันทึกว่าภายใน 24 ชั่วโมง มีการดื่มน้ำเท่าไร ดื่มน้ำชนิดไหนบ้าง เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม กาแฟ เป็นต้น และดื่มในปริมาณเท่าไร มีการถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง เวลาไหนบ้าง มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เพื่อทำการประเมินต่อไป ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจดบันทึกคือ 3 วัน จากนั้นแพทย์จะประเมินจากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายปัสสาวะที่บ่อยกว่าคนปกติ เพราะในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีพฤติกรรมดื่มน้ำบ่อยทั้งที่ร่างกายยังไม่ทันขาดน้ำ อาจเกิดจากอาการคอแห้งบ่อย ก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติได้ หรือบางคนชอบทานผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากก็ทำให้ปัสสาวะบ่อยได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ต้องรู้ก่อนว่าคนไข้มีพฤติกรรมอย่างไร จึงจะทำการรักษาได้ถูกจุด หากพบว่าเป็นที่พฤติกรรมก็ต้องให้คนไข้ปรับพฤติกรรมตนเอง และอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากภาวะบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะ

สังเกตได้ว่าการขับถ่ายแต่ละครั้งมีปริมาณที่สมเหตุสมผล ซึ่งอาการปวดเกิดจากน้ำที่เต็มกระเพาะปัสสาวะ แตกต่างจากคนที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติที่มักขับถ่ายออกมาในปริมาณน้อยเพราะขับถ่ายทั้งที่น้ำยังไม่ทันเต็มกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้อาจมีการตรวจร่างกายต่อไปเป็นลำดับ หลังจากจดบันทึกพฤติกรรมของผู้ป่วยแล้ว และยังหาสาเหตุไม่พบ

ส่วนใหญ่ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง เช่น การอักเสบ เรื่องของโรคในกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีนิ่วหรือก้อนเนื้องอก หรือความผิดปกติของอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผู้หญิงอาจมีความผิดปกติของมดลูก เรื่องของฮอร์โมนที่ขาดไป แต่เรื่องสำคัญที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกันที่ต้องทำการแยกแยะ คือความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการทั้งสมอง ไขสันหลัง และส่วนต่างๆ ทั้งหมด

สาเหตุแท้จริงนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายอย่างมากระตุ้นได้ เช่น อุปนิสัย เครื่องดื่มบางชนิด การใช้ชีวิต อย่างเช่นบางคนอาจมีภาวะที่ต้องกลั้นปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ รวมถึงอาหารบางอย่างที่มีคุณสมบัติในการเร่งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีรสจัด โซดา อาหารที่รสจัด เครื่องเทศ วาซาบิ เป็นต้น

ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่อาจพบที่ช่วงอายุต่างกัน ในผู้หญิงมักพบในวัยทำงาน วัยมหาวิทยาลัย แต่ในผู้ชายจะพบเมื่ออายุมากกว่าอาจมาจากต่อมลูกหมากโตหรือการทำงานของสมองเริ่มบกพร่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook