"น้ำมันมะพร้าว" ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และ ดร.วนะพร ทองโฉม หรือ อ.เอ็กซ์ อาจารย์กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเอาไว้ใน Single Being EP.70 Diet Myth เจาะลึกความเข้าใจผิดๆ เรื่องอาหารสุขภาพ ว่า
"น้ำมันมะพร้าว" ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?
หลายคนไม่ได้บริโภคน้ำมันมะพร้าวจากการนำไปปรุงอาหารเท่านั้น แต่ยังนำมารับประทานเหมือนเป็นอาหารเสริมอีกด้วย เช่น รับประทานวันละ 2 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น โดยเหตุผลที่คนนำมารับประทานกันเหมือนเป็นอาหารเสริม เพราะมีความเชื่อว่าในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายโมเลกุลปานกลาง หรือ MCTs (Medium Chain Triglycerides) ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่เหลือตกค้างไว้ในร่างกาย แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่
ในน้ำมันมะพร้าวมีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัว แต่จะโดดเด่นในเรื่องกรดไขมันอิ่มตัว ที่ 50% จะเป็นลอริก แอซิด ซึ่งเป็น MCTs ด้วย จึงทำให้คนทั่วไปคิดว่า ในน้ำมันมะพร้าวมี MCTs เยอะ ก็น่าจะดีต่อสุขภาพ สามารถบริโภคแล้วเอาไปใช้เป็นพลังงานได้เลย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่ามี HDL หรือไขมันดีอยู่ด้วย
แต่อันที่จริงแล้ว น้ำมันมะพร้าวไม่ได้เพิ่ม HDL ให้กับร่างกายอย่างเดียว แต่ยังเพิ่ม LDL หรือไขมันเลวด้วย และยังเพิ่มในสัดส่วนที่มากกว่า HDL เสียอีก
ดังนั้น การรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อหวังผลช่วยเพิ่มไขมันดีในร่างกาย จึงอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิด
บริโภคน้ำมันมะพร้าวอย่างไร ถึงจะดีต่อสุขภาพ
สำหรับใครที่ซื้อน้ำมันมะพร้าวมาแล้ว หรือติดใจในกลิ่นหรือรสชาติ ยังสามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวได้ โดยนำมาปรุงอาหารตามปกติ ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หรือราวๆ 1 ช้อนโต๊ะ ไม่ควรนำมารับประทานเป็นอาหารเสริม หรือรับประทานสดๆ นอกจากนี้ควรออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย