เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2 แตกต่างกันอย่างไร?
เบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคยอดฮิตที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักในการป้องกัน โรคเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังอาจจะเข้าใจผิดว่า สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน คือการกินหวาน หรือกินน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่อันที่จริงแล้ว สาเหตุของโรคเบาหวานนั้นมีมากมาย ขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวาน ซึ่งแน่นอนว่ามีมากกว่า เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถจำแนก โรคเบาหวาน ตามสาเหตุการเกิดได้ 4 ชนิด ได้แก่
- เบาหวานชนิดที่ 1
- เบาหวานชนิดที่ 2
- เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวาน ชนิดที่คนส่วนใหญ่มักสับสนคือ เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2 ที่แม้ จะเป็นภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเหมือนกัน แต่ก็มีสาเหตุ อาการ และการรักษาแตกต่างกัน เราจึงควรเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างเบาหวาน ชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ให้ถูกต้องมากขึ้น เพื่อจะได้รับมือและรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด Hello คุณหมอ จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักความแตกต่างของโรคเบาหวานแต่ละชนิดค่ะ
ทำความรู้จักกับ โรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จัดเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune disease) ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำลายเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย ในกรณีของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเบต้าเซลล์ (Beta cell) ในตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน จนร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินที่คอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Glucose Level) ได้ตามปกติ
อีกทั้งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดที่เกิดจากกรดคีโตนคั่ง ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ ทำให้เป็น โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกาย เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและไม่เกิดภาวะกรดคีโตนคั่งนี้ มากเกินไป
ทำความรู้จักกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จัดเป็น โรคเบาหวาน ที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือสามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) จึงไม่สามารถ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนเป็นโรคเบาหวาน
ความแตกต่างโดยทั่วไปของ เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 (Diabetes Mellitus Type 1) มักพบในเด็กและวัยรุ่น โดยพบมากในช่วงอายุ 4-7 ปี และ 10-14 ปี ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก หรือรูปแบบการใช้ชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยจากที่มีภาวะเลือดเป็นกรด จากกรดคีโคนคั่ง รักษาด้วยการฉีดอินซูลิน หรืออินซูลินปั๊ม หากไม่ใช้อินซูลิน จะควบคุมอาการของโรคไม่ได้ เบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ได้
โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus Type 2) มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะเสี่ยงเบาหวาน (Prediabetes) คือ น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย กลุ่มนี้ จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากมีคนในครอบครัว เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือมีภาวะอ้วนลงพุง จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักตรวจพบว่ามีระดับความดันโลหิตสูง หรือมีระดับ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือบางรายอาจพบทั้งสองภาวะนี้ มักไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ส่วนใหญ่ หากยังอยู่ในระยะเริ่มแรก และระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา สามารถป้องกัน ชะลอ หรือควบคุมอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารมีประโยชน์ ผู้ป่วยบางรายอาจหยุดใช้ยารักษาเบาหวานได้ หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี
อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน ทั้งสองชนิด หากไม่รักษาหรือควบคุม อาจมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- รู้สึกกระหายน้ำมาก ต้องดื่มน้ำเยอะๆ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียรุนแรง
- น้ำหนักลดแม้จะไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก
- สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
การป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องรักษาด้วยการใช้ยาฉีดอินซูลิน หรือ ฉีดอินซูลินเข้าร่างกายเป็นประจำ โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าผู้ป่วยแต่ละรายต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกายปริมาณเท่าใด
ในส่วนของ โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันแบบดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี อย่าปล่อยให้อ้วน ลงพุง
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ร่วมกับการกินยาตามแพทย์สั่ง หากคุณดูแลร่างกายดีๆ อาจไม่จำเป็นต้องกินยารักษาเบาหวานไปตลอด
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด สิ่งสำคัญในการรับมือกับเบาหวาน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็น โรคเบาหวาน นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอแล้ว สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องปฏิบัติเป็นประจำก็คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งถือเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คุณทราบได้ว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองยังอยู่ในระดับปกติหรือไม่
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด มีทั้งการตรวจในโรงพยาบาล เพื่อคัดกรองเบาหวาน ประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง (SMBG ย่อมาจาก Self Monitoring Blood Glucose) โดยการตรวจจากเลือดที่ปลายนิ้วด้วยเครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา (Blood Glucose Meter หรือ BGM) ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตัวเองเป็นประจำ ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทราบระดับน้ำตาลในเลือด และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือดูแลตัวเองได้ทันที
อีกทั้งแพทย์ยังสามารถนำผลตรวจน้ำตาลในเลือดที่วัดได้ไปประเมินเพื่อปรับขนาดยา หรือหาวิธีควบคุมน้ำตาลที่เหมาะสมได้อีกด้วย เครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา (Blood Glucose Meter หรือ BGM) จึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้เสี่ยงเป็น โรคเบาหวาน ควรมีพกติดตัวไว้