“คลั่งรัก” อาการของคนตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ผิดปกติหรือไม่?

“คลั่งรัก” อาการของคนตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ผิดปกติหรือไม่?

“คลั่งรัก” อาการของคนตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ผิดปกติหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการ “คลั่งรัก” ไม่ใช่แค่ศัพท์วัยรุ่นที่เอาไว้แซวคนที่แสดงออกถึงความรู้สึกรักใครสักคนมากๆ กันเล่นๆ เพราะเป็นอาการที่มีอยู่จริงในหลักจิตวิทยา และเริ่มมีการพูดถึงคำนี้อย่างจริงจังเมื่อซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ มีฉากที่ตัวละครอาจกำลังมีอาการคลั่งรัก อาการนี้เป็นอย่างไร แตกต่างจากอาการตกหลุมรักปกติมากน้อยแค่ไหน และเป็นอันตรายหรือไม่?

อาการคลั่งรัก คืออะไร?

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @Darlper ระบุว่า "อาการคลั่งรัก (Limerence) เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นมาโดย Dr. Dorothy Tennov นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ Love and Limerence – the Experience of Being in Love ในปี 1979 โดยอธิบายความหมายของคำว่า Limerence หรืออาการคลั่งรักว่า เป็นความรู้สึกรักที่มีระดับของความรู้สึกมากกว่าแค่ชอบ หรือแค่หลงไหลตามปกติ"

อาการของคนคลั่งรัก

อาการของคนที่มีอาการคลั่งรัก จะมีระดับของความรักความชอบที่มากอย่างชัดเจน เกินการควบคุมของตัวเอง ไม่สามารถหยุดตัวเองให้ลืม ทำใจ หยุดคิด หยุดนึกถึงคนที่ชอบได้ มีความคิดหมกมุ่นที่เกี่ยวกับคนที่เรารักตลอดเวลา และอยากให้คนที่เรารักหันมารักเราตอบ จนเลยเถิดไปถึงความรู้สึกที่อยากครอบครองเขา เขาคนนั้นเหมาะสมกับเราเพียงผู้เดียว

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @Darlper ยังให้อธิบายเพิ่มเติมว่า "Dr. Dorothy Tennov มองว่าระดับความรู้สึกรัก หรือชอบพอใครสักคน สามารถแบ่งออกมาได้หลากหลาย 'เฉดสี' เป็น 'สเปกตรัม' ตั้งแต่สีอ่อนไปจนถึงสีเข้ม โดยในส่วนของอาการคลั่งรักเป็นส่วนที่มีสีเข้มที่สุด"

ในทางจิตวิทยายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า อาการคลั่งรัก เป็นอาการทางจิตจริงๆ หรือเป็นเพียงนิสัยใจคอเฉพาะบุคคลเท่านั้น ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @Darlper ระบุว่า "จากการทดลองพบว่า คนที่มีอาการคลั่งรัก มีความเป็นไปได้สูงที่จะผลิตฮอร์โมนลักษณะคล้ายกับฮอร์โมนที่หลั่งออกมาหลังเสพยา ทำให้เราเสพติดการพบหน้า พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับเขาคนนั้น" นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการคลั่งรัก อาจแสดงออกว่าชื่นชอบคนๆ นั้นมากเป็นพิเศษ จนไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองได้ จนอาจมีอารมณ์ที่รุนแรง และควบคุมการกระทำของตัวเองไม่ได้

ทางด้าน Helen Fisher นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ระบุว่า สมองของกลุ่มคนที่มีอาการคลั่งรักยังทำงานในลักษณะคล้ายกันกับผู้ที่เสพยาโคเคน ระหว่างที่กำลังมีอารมณ์ลุ่มหลงในความรัก ระดับฮอร์โมนเซโรโทนินจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำจนอาจอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD) แต่ระดับฮอร์โมนโดพามีนที่สัมพันธ์กับความร่าเริงและตื่นตัวกลับพุ่งสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ที่มีอาการคลั่งรักมีลักษณะท่าทาง และพฤติกรรมที่ดูตื่นตัว ย้ำคิดย้ำทำ และยังมีอารมณ์ค่อนข้างแปรปรสนง่ายกว่าคนทั่วไป

เรามีอาการ “คลั่งรัก” หรือไม่?

อาการที่แตกต่างกันของความรัก กับคนที่คลั่งรัก จะแตกต่างกันมากพอที่เราจะสังเกตได้บ้าง โดยคนที่มีอาการคลั่งรักอาจมีพฤติกรรมเหล่านี้

  • เสียอาการอย่างหนักจนผิดปกติ เมื่อได้อยู่ใกล้ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนๆ นั้น เช่น ใจสั่น พูดติดอ่าง วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ
  • มีจินตนาการถึงชีวิตในอนาคตกับคนๆ นั้นไปไกลมาก เช่น เห็นภาพว่าได้เป็นแฟนกัน แต่งงาน มีลูก หรือจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นในหัว แม้ว่าจะได้เจอคนนั้นเพียงไม่กี่นาที
  • มองข้ามข้อเสียของเขาคนนั้นไปได้อย่างง่ายๆ ไม่ว่าคนนั้นจะทำอะไรก็ดีไปหมดทุกอย่าง พยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างเขาได้ตลอด
  • มีอารมณ์ร่วมกับเขามาก ดีใจตาม เสียใจตาม ร้องไห้ตาม เป็นทุกข์เป็นร้อนตามอย่างเห็นได้ชัด และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย ทุกอารมณ์ขึ้นอยู่กับเขา
  • มีอารมณ์หึงหวงอย่างหนักเมื่อเขามีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามแค่เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทของเขา หรือใครก็ตาม อิจฉาและหึงหวงอย่างไร้เหตุผล หัวฟัดหัวเหวี่ยง จนแสดงกิริยา หรือวาจาที่รุนแรงออกมา
  • คิดถึงมาก หมกมุ่นแต่กับเรื่องของเขาจนไม่เป็นอันกินอันนอน
  • ทำกิจกรรมที่เคยทำตามปกติไม่ได้ คิดถึงแต่เขาจนไม่มีสมาธิ

อันตรายของอาการคลั่งรัก

แน่นอนว่ากับคนที่เรามีความรักมอบให้ เรามักจะอยากเห็นคนเขาคนนั้นมีความสุข มีรอยยิ้ม มีชีวิตที่ดี แต่ในขณะเดียวกันกับคนที่มีอาการคลั่งรัก จะเป็นความรักที่อยากครอบครอง ให้เขาเป็นของเราคนเดียว ลุ่มหลงมัวเมาจนเห็นผิดเป็นชอบตลอดเวลา เขาทำอะไรก็ดีไปหมด รวมไปถึงแสดงอารมณ์ และการกระทำอันรุนแรงหากเขาคนนั้นไม่สามารถตอบกลับความรักที่เรามีให้เขาได้ เมื่อเป็นความรู้สึกที่รุนแรงจนอาจทำให้ไม่สามารถแยกแยะเหตุผล ผิดชอบชั่วดี หรือไม่สามารถควบคุมการกระทำใดๆ ของตัวเองได้ เมื่อนั้นอาการคลั่งรักก็จะก่อความลำบาก สร้างอันตรายใดๆ ให้กับคนที่รักได้เช่นกัน

ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังอยู่ในห้วงของความรัก ลองสังเกตความรักของตัวเองดูว่าเป็นความรักที่อยู่บนพื้นฐานของการปรารถนาดีด้วยหรือไม่ เรายอมสละความรู้สึกบางอย่างของเราเพื่อให้เขาได้มีความสุขหรือไม่ เราสามารถหักห้ามใจไม่ให้ทำอะไรเกินเลยจนลืมคำว่ากาลเทศะ หรือหน้าที่ที่เราต้องทำ ต้องรับผิดชอบได้หรือไม่ ความรักของคุณทำให้คุณและอีกฝ่ายเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า หากคุณรักษาความรักของคุณให้เป็นเพียงความรักและความปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจได้แล้ว ความรักนั้นก็จะไม่ทำร้ายใคร และจะเป็นความรักที่ยั่งยืน หรือหากเป็นความรักที่ไม่สมหวัง ก็ยังคงเหลือเป็นความทรงจำดีๆ ให้นึกถึงได้ในอนาคตเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook