"เอ็นข้อมืออักเสบ" โรคติดต่อของยุคสมาร์ทโฟน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอาการปวดข้อมือนั้นมีอุบัติการที่สูงขึ้นมาก หมอพบผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณข้อมือที่แผนกผู้ป่วยนอกแทบทุกวัน โดยเป็นได้ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งๆ ที่อาการนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่กลับพบมากคล้ายกับเป็นโรคติดต่อเลยครับ
สาเหตุเอ็นข้อมืออักเสบ
นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า สาเหตุของเอ็นข้อมืออักเสบเกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน และพบว่าโทรศัพท์ของผู้ป่วยบางรายมีขนาดใหญ่กว่ามือทำให้ต้องเกร็งและใช้งานเอ็นบริเวณข้อมืออย่างผิดปกติส่งผลให้มีเอ็นอักเสบตามมาได้ในที่สุด
เอ็นนั้นเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้ขยับข้อมือและนิ้วมือ โดยเอ็นนี้ถูกใช้งานอย่างหนักในแต่ละวัน หมอยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ การเล่นเกมที่ต้องใช้หัวแม่มือกดตัวจอสมาร์ทโฟนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนั้น จะทำให้อุณหภูมิของเอ็นสูงขึ้นได้ถึง 10 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำให้เอ็นมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย จึงไม่แปลกเลยที่ในปัจจุบัน พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ้วล็อคได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และจะเห็นได้ว่าการเกิดเอ็นข้อมืออักเสบนั้นไม่จำเป็นต้องยกของหนักหรือเกิดอุบัติเหตุเลย การใช้งานซ้ำไปซ้ำมาเป็นประจำก็ทำให้เกิดการอักเสบได้
3 อันดับที่พบบ่อย ของเอ็นอักเสบบริเวณข้อมือ
- เอ็นหัวแม่มือ เอ็นหัวแม่มือนี้จะทอดผ่านตัวข้อมือและถูกใช้งานมากที่สุด เป็นปริมาณร้อยละ 50 ถึง 60 ของมือข้างนั้นๆ และต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนนั้น ถูกดีไซน์มาให้ใช้กับหัวแม่มือเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดอาการเอ็นหัวแม่มืออักเสบได้บ่อยที่สุด โดยการอักเสบจะเป็นบริเวณโคนหัวแม่มือหรือเป็นบริเวณข้อมือก็ได้
- เอ็นหลังข้อมือ เกิดจากการที่กระดกข้อมือไปทางด้านหลังเป็นระยะเวลานานโดยมักจะพบกับมือขวา หรือมือข้างที่ถนัด ที่ต้องกระดกเพื่อใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั่นเอง
- เอ็นหน้าข้อมือ ซึ่งเป็นเอ็นที่ใช้สำหรับการงอข้อมือหรือนิ้วมือ การอักเสบนี้ มักจะพบที่บริเวณมือซ้าย หรือมือข้างที่ไม่ถนัด เนื่องจากว่าต้องถือโทรศัพท์ในท่าเกร็งข้อมือและงอนิ้วมือเป็นระยะเวลานาน
อาการเอ็นข้อมืออักเสบ
อาการมักจะเริ่มจากอาการปวดติดขัด ขยับได้ไม่คล่อง ข้อมือและนิ้วมือมีความยืดหยุ่นลดลงใช้งานได้ไม่ค่อยถนัด จากนั้นจะตามมาด้วยอาการต่างๆ โดยอาการที่ควรจะมาพบแพทย์ได้แก่
- อาการปวดเป็นเรื้อรังหลายวัน ไม่ดีขึ้นหลังจากพักหรือรับประทานยา
- มีอาการชาหรือเสียวแปล๊บๆ บริเวณมือ นิ้วมือ หรือบริเวณแขนร่วมด้วย
- มีอาการปวดมากอย่างเฉียบพลันที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือบริเวณแขน
- มีอาการบวมแดงร่วมด้วย
หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้ตัวคอลลาเจนไฟเบอร์ที่อยู่ในเส้นเอ็นเกิดการเสื่อม ส่งผลให้เกิดการปวดเรื้อรังและยากต่อการรักษา แพทย์สามารถที่จะหาสาเหตุ หรือตรวจหาเอ็นที่เกิดการอักเสบได้ โดยการตรวจร่างกาย หลายครั้งการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยวินิจฉัยร่วมด้วย ทำให้ระบุเอ็นที่เป็นปัญหา และระบุตำแหน่งเอ็นที่อักเสบได้อย่างแม่นยำ หากจำเป็นต้องมีการฉีดยาหรือฉีดเกล็ดเลือด จะสามารถทำได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลดีที่สุดจากการรักษา