“ถอนผมหงอก” ทำให้ผมหงอกมากขึ้น จริงหรอ?
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คงหนีไม่พ้น “ผมหงอก” ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น จนทำให้หลายคนถึงกับจิตตก อยากจะถอนออกไปให้หมด
แต่หลายคนยังเป็นกังวลว่าการถอนผมหงอก จะทำให้ผมหงอกมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่? เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน Tonkit360 รวบรวมข้อมูลมาไว้ที่นี่แล้ว
ผมหงอกเกิดจากอะไร?
ผมหงอกเกิดจากเม็ดสีเมลานินบริเวณโคนผมที่ทำให้เส้นผมมีสี มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือหยุดทำงาน จึงทำให้เห็นผมเป็นสีขาว หรือสีเทา หยาบ และไม่เงางาม ซึ่งโดยปกติ คนเอเชียจะเริ่มมีผมหงอกเมื่อมีอายุ 30-40 ปี ซึ่งผมที่หงอกไปแล้วไม่สามารถกลับมาดำได้อีก
ปัจจัยที่ทำให้ผมหงอก
นอกจากอายุที่มากขึ้นจะทำให้ผมหงอก เนื่องจากเซลล์สร้างเม็ดสีเสื่อมสภาพแล้ว ก็ยังมีสาเหตุทางการแพทย์อื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ มีปัญหาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้มีผมหงอกขึ้นเป็นหย่อมๆ ร่างกายขาดสารอาหาร ป่วยด้วยโรคโลหิตจาง เบาหวาน ไทรอยด์
นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ ความเครียด ทำงานหนักเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ มีภาวะตกใจหรือเสียใจอย่างรุนแรง ก็อาจส่งผลให้เกิดผมหงอกได้เช่นกัน
ถอนผมหงอกไม่ทำให้หงอกมากกว่าเดิม!
หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่าห้ามถอนผมหงอก หากไม่อยากมีผมหงอกยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะปกติเส้นผมจะงอกเพียง 1 เส้นต่อหนึ่งรากผมเท่านั้น นั่นหมายความว่า เมื่อถอนผมหงอกไป 1 เส้น ผมที่ขึ้นมาใหม่จะงอกขึ้นมาเพียง 1 เส้นเท่านั้น ไม่ได้ไปกระตุ้นให้เกิดผมหงอกเป็นบริเวณกว้างแต่อย่างใด
กินอาหารบำรุงผม ช่วยเรื่องผมหงอก ผมร่วง
นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย เคยแนะนำไว้ในรายการ “รู้ทันเรื่องผมหงอก : รู้สู้โรค” ว่าอาหารบำรุงเส้นผม “เกศาโภชนา”จะช่วยไม่ให้ผมหงอกก่อนวัย หรือหลุดร่วงได้ ซึ่งแร่ธาตุที่จำเป็นต่อผมมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไบโอติน พบได้ในไข่แดง, สังกะสี และทองแดง สามารถพบได้ในอาหารทะเล เช่น หอยนางรม กุ้ง ปลา ปลาหมึก