แม่จ๋า.... หนูมีปัญหาสมาธิสั้น

แม่จ๋า.... หนูมีปัญหาสมาธิสั้น

แม่จ๋า.... หนูมีปัญหาสมาธิสั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“หนูควบคุมตัวเองไม่ได้ ซนมาก ไม่อยู่นิ่ง นั่งยุกยิกอยู่ไม่เป็นสุข ชอบเดินไปมาในห้องเรียน ไม่นั่งอยู่กับที่เวลากิน ทำอะไรแรง เล่นแรง เล่นแป๊บเดียวก็เปลี่ยนของเล่น เล่นเสียงดัง ทำตามคำสั่งง่ายๆไม่ได้ พูดเหมือนไม่ฟัง พูดมาก พูดไม่หยุด พูดขัดจังหวะคนอื่น ไม่แบ่งปัน ไม่อดทนรอเข้าแถว ไม่รอคิวเล่น ชอบแย่งของเล่น ไม่สนใจความรู้สึกใคร เพื่อนไม่ค่อยอยากคบ ใครมอบให้ทำงานก็ทำไม่สำเร็จ ทำของหายที่บ้าน ที่โรงเรียนบ่อย”

คุณแม่ทราบไหมคะ เด็กทั่วไปอาจแสดงพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้บ้าง แต่เด็กสมาธิสั้นจะมีพฤติกรรมเหล่านี้ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าลูกมีอาการดังกล่าวถือว่าลูกเป็นเด็กไฮเปอร์ หรือสมาธิสั้นค่ะ

 

ทำไม...เด็กไฮเปอร์

ยุคนี้มีสื่อหน้าสารพัดทั้งเกมบนสมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ อินเตอร์เน็ต ของเล่นไฮเทค สื่อโฆษณาล่อตาล่อใจกระตุ้นให้ใจลูกวอกแวก จนมีส่วนทำให้เด็กขาดสมาธิได้ง่าย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีค่ะ

 

6 วิธีหลบหลีกตัวการทำลายสมาธิ

1. ไม่ให้ของเล่นลูกหลายอย่างพร้อมกัน ควรให้ลูกเล่นทีละชิ้น

2. ไม่ให้ลูกนั่งดูทีวีคนเดียวนานๆ เพราะทีวี คอมพิวเตอร์ เกม เป็นสื่อที่เปลี่ยนไว และเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำลายสมาธิลูกได้มาก

3. ไม่ให้มีเสียงดังรบกวนใกล้ลูก จัดมุมสงบในบ้านให้ลูกเล่น อ่านนิทานให้ลูกฟัง ทำกิจกรรมเพิ่มสมาธิ

4. ไม่พาลูกไปห้างฯ ร้านค้า สวนสนุก ที่ที่มีสิ่งกระตุ้นมาก มีคนจอแจ มีแสงสีเสียงเร้าใจมาก

5. ไม่ข่มขู่ ตี ทำร้ายลูก ผลวิจัยพบว่าเด็กที่ถูกทำร้ายบ่อย สมองส่วนความจำจะเล็ก ระดับฮอร์โมนเครียดจะสูง สมองที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตัว และความระมัดระวังจะทำงานหนัก ทำให้ลูกตื่นตัว ขี้กลัวตลอด

6. ไม่ให้ลูกอยู่ใกล้สนามบิน โรงงาน บ้านที่มีเสียงทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกัน เพราะฮอร์โมนเครียดในสมองจะเพิ่มสูง จนทำให้เกิดอาการไฮเปอร์เพิ่มขึ้น เลิกลั่ก อยู่ไม่สุข อดทนไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้


11 วิธีหลอกล่อตัวการเพิ่มสมาธิ

1. พ่อแม่ต้องใจเย็น ไม่ดุ โกรธ แต่สนใจพฤติกรรมที่ดีของลูกแทน ให้คำชม กอดให้ลูกรู้สึกดีต่อตัวเอง

2. จัดเวลาทำกิจวัตรให้ลูกตรงกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้ลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น

3. จัดกิจกรรมที่ช่วยปรับยืดสมาธิของลูกให้นานขึ้น เช่น ปั้นดินน้ำมัน ต่อตัวต่อ ต่อจิ๊กซอว์

4. ให้ลูกทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มสมาธิจดจ่อกับงาน โดยให้คำชมเพิ่มกำลังใจให้ลูกรู้สึกอยากทำ

5. ให้ทำกิจกรรมดนตรี สอนให้ปรบมือเข้าจังหวะ กระโดดเต้นตามเพลง ฝึกให้ฟังเสียงเพลง เช่น ได้ยินเสียงปรบมือ 2 ครั้ง กระโดด 2 ครั้ง ช่วยให้ลูกจดจ่ออยู่กับเสียงที่ได้ยิน

6. ให้สบตาลูกเวลาพูดคุยกับลูก ฝึกให้ลูกรู้จักสบตากับผู้อื่น และเกิดสมาธิสนใจผู้ที่มาพูดคุยกับลูกด้วย

7. ปล่อยให้ลูกมีอิสระสำรวจ แสดงความเป็นตัวของตัวเองในขอบเขตที่เหมาะสม ให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหน ทำได้ ทำไม่ได้ บอกหรือห้ามให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำ

8. ให้ทำเป็นไม่ใส่ใจถ้าลูกซนมาก หรือเดินหนีไปก่อนถ้ารู้สึกควบคุมลูกหรือตัวเองไม่ได้

9. หากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจลูก ถ้าลูกตื่นเต้นมาก เช่น ชวนต่อบล็อกไม้ อ่านนิทานให้ลูกฟัง

10. ให้แยกลูกออกถ้าลูกทะเลาะหรือทำร้ายคนอื่น แล้วให้ลูกนั่งเงียบๆ คนเดียวสักพักจนกว่าจะสงบลง แล้วค่อยพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และผลของพฤติกรรมนั้นว่าถ้าลูกยังทำอยู่จะเกิดผลเสียอย่างไร

11. ใช้ความอดทนกับลูก ให้ความรักแก่ลูกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ค่อยๆ ปรับค่อยๆ แก้ไข ไม่นานลูกก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ด้วยความรักของพ่อแม่ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก motherandcare.in.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook